แนวทางพัฒนาโครงการป้องกันการทารุณกรรมสัตว์แห่งชาติ

แนวคิดของโครงการ

สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) ได้ดำเนินงานมาเป็นเวลากว่า 10 ปี เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ และพัฒนาทัศนคติของคนไทยต่อสัตว์ นอกเหนือจากการดำเนินโครงการ อื่น ๆที่เกี่ยวข้อง โครงการดังกล่าวมีจุดประสงค์สำคัญเพื่อการป้องกันการทารุณสัตว์พร้อม ๆไปกับการปลูกจิตสำนึกการให้ความรู้ ความเข้าใจ และสร้างทัศนคติที่ดีต่อสัตว์ให้แก่นักเรียน นักศึกษา ตลอดถึงผู้รักสัตว์ หน่วยงานภาครัฐ และองค์กรพัฒนาเอกชนโดยทั่วไป รวมทั้งดำเนินการส่งเสริมโดยจัดโครงการประกาศเกียรติคุณหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ที่การดำเนินงานเพื่อการลด เลิก ละการทารุณกรรมสัตว์ และเห็นความสำคัญของสวัสดิภาพสัตว์เพื่อจูงใจให้ประชาชนปฏิบัติตามกฎหมาย

นโยบายภาครัฐ และการดำเนินงานที่ผ่านมา

ทั้งๆ ที่ตามความเป็นจริง ประเทศไทยได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองและสงวนสัตว์ป่าเมื่อปี พ.ศ.2503 และได้มีการแก้ไขปรับปรุงใหม่เมื่อปี พ.ศ.2535 เพื่อให้กฎหมายไทยเป็นไปตามเงื่อนไขของอนุสัญญาไซเตส (CITES) ซึ่งกำหนดไม่ให้มีไว้ในครอบครอง ซื้อ ขาย สั่งเข้ามา ส่งออก หรือเคลื่อนย้ายสัตว์ป่าที่อยู่ภายใต้อนุสัญญาไซเตสทั้งที่มีชีวิตหรือตายไปแล้ว ชิ้นส่วนหรือส่วนประกอบหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากสัตว์ป่าโดยไม่ได้รับการอนุญาตที่ถูกต้องจากหน่วยงานอนุสัญญาไซเตส ประเทศไทยได้รับการกล่าวขานในทางไม่ดีตลอดมาในการละเมิดกฎหมายดังกล่าวโดยยังปรากฎว่าได้มีการค้าขายสัตว์ป่า การละเมิดสิทธิสัตว์ทั่ว ๆไป ตลอดถึงการกระทำการทารุณสัตว์มาโดยตลอด

นอกจากนี้ กฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันและส่งเสริมสวัสดิภาพสัตว์ก็ยังไม่เคยมีในประเทศไทยเป็นทางการ แม้ว่าจะได้เคยมีความพยายามเพื่อร่างกฎหมายดังกล่าวจากหน่วยงานพัฒนาเอกชน และจากกรมปศุสัตว์เองแต่จนบัดนี้ก็ยังไม่ได้เกิดเป็นรูปธรรมใด ๆเลย

ความจริง ก็ยังมีข้อบัญญัติที่ระบุถึงการทารุณกรรมสัตว์ในกฎหมายของประเทศไทยอยู่ 2 มาตรา ซึ่งได้รับการพิจารณาว่ามีบทลงโทษที่ต่ำและล้าสมัย กล่าวคือ มีบทลงโทษปรับสูงสุดเพียง 1,000 บาท หรือจำคุกสูงสุดเพียง 1 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ (ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 381 และ382)

เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าได้มีการผลิตผลิตภัณฑ์จากหนังสุนัขและแมว ณ บริเวณจังหวัดรอบนอกกรุงเทพมหานคร เช่นที่ อำเภอลำลูกกา จ.ปทุมธานี และอีกในหลายพื้นที่ที่มีการผลิตผลิตภัณฑ์จากสัตว์ดังกล่าว

เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุนัขมีอยู่ 4 ประเภทด้วยกัน กล่าวคือ

  1. การจำหน่ายสุนัขเป็นๆ เพื่อทำการชำแหละ บริโภค และส่งออก ณ อำเภอท่าแร่ จ.สกลนคร
  2. ทำเนื้อตากแห้งมีจำหน่ายที่ศูนย์การค้ามาบุญครอง
  3. เนื้อสดที่ใช้ประกอบเป็นอาหารท้องถิ่นอีสานเช่น ลาบ น้ำตก ก๋วยเตี๋ยว เป็นต้น สามารถพบได้ที่บริเวณรังสิต และสะพานใหม่เขตดอนเมือง
  4. ใช้เป็นผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เช่น ผลิตภัณฑ์หนังสัตว์ กล่าวคือ กระเป๋าถือ เข็มขัด รองเท้า เป็นต้น

ตามปกติแล้วการแปรรูปผลิตภัณฑ์หนังสุนัขและแมวไม่สามารถกระทำได้อย่างเปิดเผยในประเทศไทย วัตถุดิบส่วนใหญ่จะถูกส่งไปยังใต้หวัน ประเทศจีน ประเทศเกาหลี เพื่อทำการแปรรูปต่อ และนำกลับเข้าประเทศไทยในรูปผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม อาทิ กระเป๋าถือ เป็นต้น

ดังที่กล่าวมา การขาดความรู้ ความเข้าใจ และจิตสำนึกเกี่ยวกับสวัสดิภาพสัตว์ได้ทำให้สถานการณ์การทารุณกรรมสัตว์ในประเทศไทยเลยร้ายลงและแพร่ขยายมากขึ้น

การรณรงค์และพัฒนาโครงการป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ในอดีต

เป็นระยะเวลาติดต่อกันหลายปีที่สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) ได้รณรงค์โครงการป้องกันการทารุณกรรมสัตว์โดยเน้นที่การช่วยเหลือสัตว์จรจัด การดูแลสวัสดิภาพสัตว์โดยใช้คลีนิคเคลื่อนที่ การอุปการะสัตว์จรจัด การเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับสัตว์ การรณรงค์โครงการประกาศเกียรติคุณ ตลอดถึงการผลักดันกฎหมายสวัสดิภาพสัตว์ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวโดยความร่วมมือกับองค์กรพัฒนาเอกชน NGOs อื่น ๆ อาทิเช่น มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพันธุ์พืชแห่งประเทศไทย มูลนิธิช่วยเหลือสัตว์ป่า มูลนิธิเพื่อนช้าง มูลนิธิสงเคราะห์สัตว์พิการ ปากเกร็ด สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชนและองค์กรอื่น ๆ

ในระยะเริ่มต้น สมาคมฯได้เผยแพร่ความรู้ให้แก่เยาวชนเป็นจำนวน 10,000 คน จากโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ19 โรงเรียนพร้อม ๆกับเผยแพร่ข้อมูลอันเกี่ยวกับการดูแลสัตว์ที่ถูกต้องให้แก่ชุมชนผู้เลี้ยงสัตว์ หน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานพัฒนาเอกชน ตลอดถึงสื่อมวลชนและกลุ่มผู้ดูแลเลี้ยงดูสัตว์จรจัดทั่วประเทศ

เพื่อเป็นฐานพัฒนาความรู้ ความเข้าใจ และการปลูกจิตสำนึกต่อคุณค่าของสัตว์ ทางสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) ได้ทำการผลิตวารสารคนรักสัตว์เพื่อเผยแพร่และแจกจ่ายให้สมาชิก ชมรมผู้เลี้ยงสัตว์ นักเรียน นักศึกษา และประชาชนโดยทั่วไปอีกด้วย

ภาคใต้โครงการบ้านอุปถัมภ์ เมื่อปี พ.ศ. 2547 ทางสมาคมฯสามารถจัดหาบ้านให้แก่สุนัขและแมวจรจัดได้ถึง 95 ตัว และสามารถพัฒนาเครือข่ายผู้ดูแลสัตว์จรจัดซึ่งจัดเป็นกลุ่มผู้ดูแลสัตว์ซึ่งมีจำนวนสุนัขที่จะต้องดูแลรวมกันจำนวนกว่า 6,000 ตัว โดยสมาคมฯได้จัดส่งอาหาร ยารักษาโรค และสิ่งจำเป็นทึ่ได้จากการบริจาคไปมอบให้อย่างต่อเนื่องเป็นประจำ

การจัดตั้งโครงการและการพัฒนาความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

โครงการป้องกันการทารุณกรรมสัตว์แห่งชาติดำเนินงานโดยสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) พร้อมการสนับสนุนจากเครือข่ายของสมาคมฯในเมืองสำคัญ ๆของประเทศพร้อมไปกับการประสานงานสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อประสิทธิภาพและความร่วมมือในการดำเนินโครงการ

ในการดำเนินงานสมาคมฯได้จัดตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาโครงการ ซึ่งเป็นตัวแทนจากหน่วยงานต่าง ๆที่เกี่ยวข้องกับโครงการ อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงศึกษาธิการ กรุงเทพมหานคร คณะสัตวแพทย์จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ (อาทิ มหิดล เกษตรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ ฯลฯ) กรมปศุสัตว์ ภายใต้กระทรวงมหาดไทย องค์การสวนสัตว์ สัตวแพทยสภา หน่วยงานพัฒนาเอกชนเกี่ยวกับสัตว์ สื่อมวลชน ตลอดถึงองค์การระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ยังเห็นความสำคัญในบทบาทขององค์กรพัฒนาเอกชน NGOs ด้วยกันที่จะร่วมมือเพื่อยุติการทารุณสัตว์ กล่าวคือ มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพันธุ์พืช มูลนิธิช่วยเหลือสัตว์ป่า มูลนิธิเพื่อนช้าง มูลนิธิสงเคราะห์สัตว์พิการ เป็นต้น

องค์กรดังกล่าวนับว่ามีบทบาทสำคัญยิ่งในการช่วยกันบรรเทาปัญหาการทารุณกรรมสัตว์ที่ขยายตัวมากขึ้นในประเทศไทยโดยมีภารกิจที่สำคัญ อยู่ 3 ประการ

  1. รณรงค์ เผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจและปลูกจิตสำนึกเกี่ยวกับสวัสดิภาพสัตว์ ให้แก่นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปโดยเน้นถึงบทบาทของสัตว์ที่มีต่อการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในประเทศไทย
  2. ส่งเสริมค่านิยมทางสังคมเกี่ยวกับสัตว์ที่ถูกต้องให้แก่ประชาชน
  3. สนับสนุนเพื่อให้มีการผ่านร่างพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ ตลอดถึงการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ โครงการป้องกันการทารุณกรรมสัตว์แห่งชาติ ยังให้ความสำคัญเกี่ยวกับการพัฒนาความร่วมมือและเป็นภาคีกับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสัตว์ต่าง ๆ อาทิ อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ อุตสาหกรรมเวชภัณฑ์สัตว์ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องใช้เกี่ยวกับสัตว์ โรงพยาบาลและคลีนิคสัตว์ ตลอดถึงอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์เพื่อการบริโภคทั่ว ๆไป โดยคาดว่าการมีส่วนร่วมของกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวจะทำให้การดำเนินโครงการมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้ย่อมมีกำลังด้านการเงินและผลประโยชน์ที่จะช่วยผดุงและพัฒนาอุตสาหกรรมเกี่ยวกับสัตว์ให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป