รายงานการประชุมยกร่างกฎหมายส่งเสริมและคุ้มครองสวัสดิภาพสัตว์ ครั้งที่ 1

วันที่ 23 เมษายน 2548 เวลา 18.30 – 22.30 น.
ณ ห้องประชุมชั้น 11 อาคารคานารี่เฮ้าส์ รามคำแหง 42

จากการสัมมนาหาเจตนารมณ์กฎหมายส่งเสริมและคุ้มครองสวัสดิภาพสัตว์ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมสัมมนาจากหน่วยงานต่างๆที่มีส่วนร่วมโดยตรงกับกฎหมายฉบับดังกล่าว ได้ผลสรุปดังนี้

เจตนารมณ์ของกฎหมายส่งเสริมสวัสดิภาพสัตว์

“เพื่อให้มีบรรทัดฐานในการปฏิบัติกับสัตว์อย่างเหมาะสมและเป็นที่ยอมรับของสากล เพื่อให้มนุษย์กับสัตว์อยู่ร่วมกันอย่างสมดุลและยั่งยืน”

กรอบแนวคิดและข้อเสนอแนะจากการสัมมนา

  1. พ.ร.บ.ใหม่นี้ต้องครอบคลุมสัตว์ทุกชนิดโดยระบุประเภทของสัตว์ เป็นกลุ่ม เช่น
    1.1 สัตว์เลี้ยงเป็นเพื่อน
    1.2 สัตว์เลี้ยงเพื่อการบริโภค
    1.3 สัตว์ทดลอง
    1.4 สัตว์เพื่อการแสดง
    1.5 สัตว์ป่า
    1.6 สัตว์สวนสัตว์
    1.7 สัตว์เพื่อใช้งาน ฯลฯ
  2. มีคณะกรรมการคุ้มครองสวัสดิภาพสัตว์แห่งชาติ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลด้านนโยบาย
  3. อนุกรรมการกำกับดูแลสัตว์ตามข้อ 1
  4. หน่วยงานรับผิดชอบ ได้แก่
    – กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
    – กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
    – สำนักนายกรัฐมนตรี
    – องค์กรอิสระ
  5. บทลงโทษที่รุนแรงกว่าเดิมทั้งทางอาญาและแพ่ง(ต่างกรรมต่างวาระของการกระทำผิด)
  6. กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับศาสนา ประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีผลกระทบต่อสวัสดิภาพสัตว์จะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานเป็นกรณีไป
  7. มีการกำหนดมาตรฐานเกี่ยวกับสวัสดิภาพสัตว์ตามข้อ 1
  8. กำหนดคำจำกัดความให้ชัดเจน เช่น
    – สวัสดิภาพสัตว์ (Five Freedom)
    – การทารุณกรรมสัตว์ฯ

มติเพิ่มเติมจากที่ประชุมใหญ่ภายหลักการถกแถลงเรื่องเจตนารมณ์ที่ตั้งขึ้น สรุปได้ดังนี้

  1. เพิ่มคำสำคัญ คือ “สวัสดิภาพสัตว์” เข้าไปในเจตนารมณ์
  2. เน้นความสำคัญของการส่งเสริมสวัสดิภาพสัตว์ด้วย
  3. เพิ่มข้อความในข้อร่าง พ.ร.บ. เป็น “พ.ร.บ. ส่งเสริมและคุ้มครองสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ…..”
  4. ร่าง พ.ร.บ. ฉบับใหม่ควรเทียบเคียงกับข้อเสนอแนะ พ.ร.บ. ส่งเสริมสุขภาพ (ส.ส.ส.) ซึ่งเป็นกฎหมายเชิงสร้างสรรค์

สถานการณ์ปัจจุบันเกี่ยวกับกฎหมายสวัสดิภาพสัตว์ในประเทศไทย

โดย คุณ โรเจอร์ ขณะนี้ ร่างกฎหมายคุ้มครองสวัสดิภาพสัตว์ ของกรมปศุสัตว์ ได้ถูกดึงกลับจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เนื่องจากทางกรมปศุสัตว์ต้องการนำมาพิจารณาในเรื่องงบประมาณใหม่ ซึ่งทางรัฐบาลก็ให้นำมาพิจารณาใหม่ในบางส่วนอาจมีการแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าจะมีการเชิญหน่วยงานต่างๆที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งผู้ยกร่างฯ ผู้คัดค้าน ภาคธุรกิจที่มีความเกี่ยวข้อง เข้ามาร่วมพิจารณา คุณ โรเจอร์ได้เสนอกับทางฝ่ายกฎหมายของกรมปศุสัตว์ว่า น่าจะให้คณะยกร่างฯของเราเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย และน่าจะลองพิจารณาใหม่ในทุกๆประเด็น เพื่อที่จะได้เกิดความสอดคล้องกันในร่างฯแต่ละฉบับ และมีเหลือเพียงร่างฯเดียวที่ทุกฝ่ายยอมรับ ซึ่งทางฝ่ายกฎหมายของกรมปศุสัตว์ยินดี แต่ต้องเสนอไปยังอธิบดีกรมก่อน ซึ่งหากมีการดำเนินงานในขั้นตอนดังกล่าวก็อาจจะเกิดขึ้นในเดือน พฤษภาคมนี้ นอกจากนี้ยังมีร่างฯของสภาวิจัยที่เกี่ยวกับการใช้และการเลี้ยงสัตว์ทดลองด้วย ซึ่งทางสภาวิจัยมีความกังวลเมื่อทราบว่าจะมีการร่างกฎหมายส่งเสริมและคุ้มครองสวัสดิภาพสัตว์โดยสมาคมพิทักษ์สัตว์(ไทย)และสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย แต่ร่างฯทั้งในส่วนของเราและร่างฯของกรมปศุสัตว์ จะไม่ส่งผลกระทบต่อร่างฯของสภาวิจัย เนื่องจากในส่วนของสัตว์ทดลองของร่างฯทุกฉบับได้ให้เป็นไปตามจรรยาบรรณการใช้สัตว์ทดลอง

ข้อเสนอแนะจากที่ประชุม

คุณหมอปานเทพ ชี้แจงว่าปัญหาของการดูแลสุขภาพสัตว์ในปัจจุบันคือรัฐบาลไม่มีงบประมาณในการสนับสนุน และเป็นการยากหากจะให้รัฐบาลต้องมาจัดหางบประมาณใหม่สำหรับงานดูแลสวัสดิภาพสัตว์ หากเราสามารถนำ พ.ร.บ. ฉบับนี้เข้าไปเชื่อมโยงกับงบประมาณต่างๆที่มีอยู่แล้ว ตัวอย่างเช่น พ.ร.บ.ส่งเสริมสุขภาพ ได้รับงบประมาณจากรายได้จากภาษีเหล้า เป็นต้น ดังนั้นในส่วนของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ อาจจะใช้งบประมาณที่มาจากรายได้จากการส่งออกสัตว์ การตั้งหรือปรับปรุงคอกปศุสัตว์ แล้วนำเงินจำนวนนั้นมาคืนสู่สวัสดิภาพสัตว์ ก็จะทำให้พ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่านการพิจารณาโดยง่าย

คุณหมอปานเทพ กล่าวว่าหาก พ.ร.บ. ฉบับนี้ชี้ให้เห็นว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เกิดสวัสดิภาพที่ดีของคนโดยผ่านสวัสดิภาพสัตว์ เนื่องจากหากเรามีการดูแลสัตว์ที่ดี ปราศจากโรคภัยก็จะส่งผลให้คนมีสุขภาพที่ดีด้วย ซึ่งหากกฎหมายฉบับใดมีผลกระทบโดยตรงต่อประชาชน อันเป็นประโยชน์ส่วนรวม กฎหมายนั้นก็จะผ่านการพิจารณาโดยง่ายและกฎหมายน่าจะอยู่ภายใต้Umbrella เดียวกัน ไม่ควรแยกออกเป็นหลายๆฉบับ แต่หากต้องการแยกย่อยให้จำแนกในกฎกระทรวงจะดีกว่า โดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบชัดเจน

คุณ นิรันดร์ เสนอว่าควรให้สมาคมหน่วยงานอื่นๆได้มีส่วนร่วม ควรจะนำร่างฯขององค์กรอื่นๆที่ได้ร่างไว้แล้วมาประกอบ

คุณ ชัชวาลย์ เสนอว่าควรมีกฎหมายแม่บทใหญ่ ไม่ควรอิงกับร่าง พ.ร.บ.อื่นๆ แต่อาจจะนำร่างฯอื่นๆมาใช้เป็นส่วนย่อยหรือกฎกระทรวงได้ เพราะหากมีกฎหมายหลายฉบับจะนำไปใช้ลำบาก

คุณ นิรันดร์ เสนอว่าไม่ควรออกกฎหมายโดยกล่าวถึงประเภทสัตว์โดยรวม เช่น ช้างมีหลายประเภทเนื่องจากมีการนำช้างไปใช้งานหลากหลายวัตถุประสงค์ และ พ.ร.บ.ที่จะร่างนี้ควรจะเป็นส่วนเสริมให้กับ พ.ร.บ.ต่างๆที่มีอยู่แล้วให้เกิดความสมบูรณ์ในการนำไปใช้มากยิ่งขึ้น

คุณ ฐิราภรณ์ เสนอว่าน่าจะเชิญตัวแทนจากกรมปศุสัตว์เข้าร่วมในการร่าง พ.ร.บ. เพราะสุดท้ายแล้ว กรมปศุสัตว์ก็ต้องเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบกฎหมายฉบับนี้

คุณหมอปานเทพ เสนอว่าการเชิญตัวแทนจากกรมปศุสัตว์เข้าร่วมควรจะเป็นหลังจากที่เราได้ตุ๊กตาแล้ว หากเข้าร่วมในช่วงเวลานี้ จะทำให้การทำงานล่าช้าลงไปอีก

คุณ โรเจอร์ เสนอว่าโดยระบบระเบียบของราชการแล้ว ข้าราชการไม่สามารถเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการของหน่วยงานเอกชนได้ เป็นได้แต่เพียงกรรมการที่ปรึกษาเท่านั้น นอกเสียจากว่ามีคำสั่ง แต่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งที่จะเชิญตัวแทนจากกรมปศุสัตว์เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการที่ปรึกษา ซึ่งสามารถช่วยประสานงานให้ได้ สำหรับในเรื่องของการทำตุ๊กตาขึ้นมาก่อนเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากหากมีการให้เข้าร่วมพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมร่างฯของกรมปศุสัตว์ เราสามารถนำตุ๊กตาของเราเข้าไปประกอบการพิจารณากับเขาได้ ดูน่าเชื่อถือและมีน้ำหนักกว่าเข้าไปพูดเพียงอย่างเดียว ควรเร่งทำตุ๊กตาขึ้นมา และเพื่อลดความขัดแย้งและรวดเร็ว ให้นำร่างฯของแต่ละองค์กรมาศึกษาด้วยเพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐาน และแยกสัตว์ทดลองออกแล้วนำร่างฯของสภาวิจัยมาศึกษา

หน่วยงานที่รับผิดชอบ

:คุณหมอปานเทพ กล่าวว่า การกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบ อาจเป็นในลักษณะให้องค์กรเอกชนเช่น สมาคมต่างๆช่วยเหลือในการปฏิบัติงาน สอดส่องดูแล และหน่วยงานของรัฐช่วยในด้านกำหนดนโยบายและส่งเสริมกิจกรรม เช่นให้งบประมาณในการทำกิจกรรมอาจเป็นกิจกรรมรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงสวัสดิภาพสัตว์ ทำให้รัฐบาลไม่จำเป็นต้องตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นมาเพื่อดูแลรับผิดชอบงานในส่วนนี้ได้ ซึ่งจะเป็นการประหยัดงบประมาณ

สำหรับกรมปศุสัตว์ถ้าเห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ก็ยินดีให้เป็นเจ้าภาพ โดยอาจยึดถือวัตถุประสงค์เดียวกับกรมปศุสัตว์ ซึ่งเน้นไปที่การส่งออก แต่สิ่งที่ได้ตามมาคือสวัสดิภาพสัตว์ ซึ่งจะทำให้การผลักดันกฎหมายเป็นไปได้ง่ายกว่าวิธีอื่นๆ เนื่องจากเป็นร่างฯที่ออกจากหน่วยงานของภาครัฐอยู่แล้ว

:คุณ โรเจอร์ กล่าวว่าสำหรับในส่วนของหน่วยงานเจ้าภาพ จากการพิจารณาคร่าวๆ เริ่มมีการเสนอให้กระทรวงวัฒนธรรมเป็นเจ้าภาพ เนื่องจากมีบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับจารีตประเพณี ซึ่งอาจจะเชิญตัวแทนจากกระทรวงวัฒนธรรมเข้าร่วมเป็นกรรมการที่ปรึกษาด้วยแต่จะเป็นส่วนไหนต้องมาพิจารณาร่วมกันเสียก่อน

:คุณ ดนัย ให้ความเห็นว่าราชการไทยเป็นแบบอาณาจักรใครอาณาจักรมัน ซึ่งจะมาบูรณาการเป็นกฎหมายกลางค่อนข้างยาก ถึงแม้ว่าจะแยกไปเป็นกฎกระทรวงก็ตามอาจเกิดแรงต้าน โดยเฉพาะในเรื่องงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับรายได้จากการเก็บภาษี จะถูกมองว่าเป็นภาระหรือเปล่า ยิ่งถ้าส่งผลกระทบถึงผู้บริโภคยิ่งจะเกิดแรงเสียดทาน ต้องวางยุทธศาสตร์ให้ดีโดยไม่ล้ำอาณาเขตของเขา

:คุณหมอปานเทพ กล่าวเพิ่มเติมว่าแนวทางกฎหมายฉบับนี้จะเป็นแนวทางใหม่ต้องการทำให้เกิดความยั่งยืนและชัดเจน เป็นพลังจากมวลชน เห็นว่าการนำรายได้จากการเก็บภาษีมาเป็นงบประมาณจะไม่เป็นภาระแก่หน่วยงานที่รับผิดชอบเนื่องจากเมื่อมีกฎหมายดังกล่าวแล้วจะส่งผลกระทบในด้านดีกับการส่งออก เพราะทุกฝ่ายก็ต้องการให้มีกฎหมายส่งเสริมสวัสดิภาพสัตว์ และเกิดประโยชน์อย่างชัดเจนกับทุกกลุ่ม ในเรื่องของอำนาจหน้าที่ของแต่ละส่วนไม่ได้ถูกริดรอนไปไหนแต่เป็นการประสานงานร่วมกันในแต่ละส่วน

:คุณ ชัชวาลย์ เสนอว่า กฎหมายจะแบ่งแยกเป็นเฉพาะกลุ่มไม่ได้ ต้องเป็นในภาพรวม

ประเด็นการบริโภคเนื้อสุนัข

:คุณ สัญญา เสนอว่าการบริโภคเนื้อสุนัข ถึงจะเป็นวัฒนธรรมของคนกลุ่มเล็กๆ และของต่างประเทศ เราไม่สามารถห้ามได้แต่น่าจะมีการทักท้วงหรือคัดค้านเพื่อไม่ให้เกิดการเผยแพร่ไปยังคนกลุ่มใหญ่หรือไม่ให้เกิดการค้าอย่างเป็นล่ำเป็นสัน

:คุณหมอปานเทพ กล่าวว่าปัญหาการบริโภคเนื้อสุนัข ควรจะแก้ที่ต้นเหตุเนื่องจากสุนัขส่วนใหญ่ที่นำมาบริโภคหรือทำการค้านั้นเป็นสุนัขจรจัด ดังนั้นควรสร้างจิตสำนึกให้คนไทยเลี้ยงดูสัตว์อย่างมีสำนึก คือเลี้ยงเท่าที่จำเป็นและให้การดูแลอย่างดี หากเรากำจัดวัตถุดิบ(สุนัขจรจัด)ได้ ปัญหาการค้าสุนัขก็จะหมดไป

จากประสบการณ์ ปัญหาใหญ่ที่ต่างประเทศมองเกี่ยวกับการบริโภคเนื้อสุนัขในประเทศไทยนั้น ไม่ใช่การบริโภคโดยตรงแต่เป็นการปลอมปนและหลอกลวง คือนำมาทำเป็นอาหารแทนเนื้อวัวเนื่องจากมีราคาถูกกว่า แต่ประเด็นการบริโภคก็มี ซึ่งต่างประเทศรับไม่ได้เพราะถือว่าสุนัขเป็นเพื่อน แต่ก็ยังเป็นปัญหาอยู่เนื่องจากบางประเทศรับประทานกันเป็นเรื่องปกติ เช่น เกาหลี จีน เวียดนาม

เป็นต้น ซึ่งเรื่องของวัฒนธรรมเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ซึ่งในการร่าง พ.ร.บ.ต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมาก รวมถึงการใช้ถ้อยคำ เพราะอาจทำให้เกิดปัญหาได้

:คุณ โรเจอร์ ได้กล่าวถึงประเด็นปัญหาการบริโภคเนื้อสุนัขในประเทศไทยไม่ใช่ประเด็นการบริโภคแต่เป็นการค้า เพราะคนไทยไม่บริโภคเนื้อสุนัข แม้แต่พื้นที่ที่มีการค้าสุนัขเช่น อำเภอท่าแร่ ก็ไม่บริโภคเนื้อสุนัข ผู้บริโภคจะเป็นกลุ่มเล็กๆเท่านั้นและไม่ใช่คนไทย แต่ประเทศไทยเป็นแหล่งใหญ่ในการค้าและนำส่งออกต่างประเทศ ซึ่งกรมปศุสัตว์ไม่สามารถห้ามค้าสุนัขไม่ได้เนื่องจากไม่มีกฎหมายควบคุม ซึ่งปัจจุบันแก้ปัญหาโดยใช้พ.ร.บ.โรคระบาดแทน โดยออกเป็นกฎกระทรวงว่าห้ามไม่ให้ผู้ใดค้าสุนัขโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งต้องปฏิบัติตามมาตรฐานการค้า เช่นเดียวกับโค, สุกร เนื่องจากกรมปศุสัตว์พิจารณาเห็นว่า การค้าสุนัขโดยทำเป็นมาตรฐานคือเป็นฟาร์มที่ถูกต้องตามกฎระเบียบนั้นไม่มีผู้ใดสามารถทำได้เนื่องจากไม่คุ้มและไม่เป็นที่ยอมรับหากกระทำอย่างเปิดเผย ดังนั้น ต้องการให้ พ.ร.บ.ฉบับนี้เอื้อประโยชน์ต่อประเด็นปัญหาการค้าสุนัข

การประชาสัมพันธ์แนวคิดของกฎหมาย

:คุณ นิรันดร์ เสนอว่า ต้องมีแผนในการประชาสัมพันธ์เผยแพร่แนวความคิดสู่ประชาชนควบคู่ไปด้วย เพื่อประชาชนรับทราบและเข้าใจถึงแนวคิดของกฎหมายฉบับนี้ เพื่อให้เป็นกฎหมายของประชาชนอย่างแท้จริง

:คุณหมอปานเทพ ชี้แจงว่าการนำตัวแทนจากSector ต่างๆเข้ามาร่วมในกระบวนการการวางกรอบและหาเจตนารมณ์น่าจะเพียงพอในขั้นต้น ซึ่งขั้นต่อไปเมื่อได้ตุ๊กตามาแล้วก็จะมีกระบวนการการทำประชาพิจารณ์

:คุณ ดนัย เสนอว่าควรแสดงให้เห็นว่ากฎหมายนี้ไม่ใช่กฎหมายแบบรวมอำนาจแต่เป็นการประสานกันในแต่ละส่วนและจะไม่เพิ่มภาระให้หน่วยงานที่รับผิดชอบต่อไป

ประเด็นเกี่ยวกับช้าง

: คุณ ฐิราภรณ์ ถามว่าทำไม พ.ร.บ.ช้างถึงใช้เวลาในการเสนอนานมาก ถึงแม้ปัจจุบันก็ยังไม่ผ่าน

: คุณหมอปานเทพ กล่าวว่าถ้ามองในทางการเมือง เรื่องพ.ร.บ.ช้างถูกใช้เป็นเพียงเครื่องมือในการหาเสียงเท่านั้น แต่หากจะผลักดันให้เป็นรูปธรรม เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับประเด็นอื่นๆความสำคัญค่อนข้างน้อย จะให้ความสำคัญก็ต่อเมื่อเจ้ากระทรวงให้ความสนใจ แต่ก็มีปัญหาเรื่องวาระในการดำรงตำแหน่ง

: คุณ โรเจอร์ สอบถามถึงประเด็นช้าง 8 ตัวที่ส่งไปออสเตรเลีย

: คุณหมอปานเทพ กล่าวว่าต้องทำความเข้าใจเสียก่อนว่าสัตว์ป่าไม่ใช่ของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เป็นของคนทั้งโลก หากมีการส่งสัตว์ไปยังประเทศที่มีสวัสดิการที่ดีกว่าก็เป็นเรื่องที่น่าจะทำได้ และยังถือเป็นการอนุรักษ์นอกพื้นที่ ช่วยฟื้นฟูสายพันธุ์ให้กับประเทศเจ้าของสัตว์ชนิดนั้นด้วย เกิดความมั่นคงใน Species แต่ต้องเป็นการส่งมอบโดยรัฐบาลสู่รัฐบาลและต้องมีกติการ่วมกัน ต่อไปอาจจะไม่ใช้การย้ายตัวสัตว์แต่อาจเป็นการส่งมอบน้ำเชื้อแทนและในปัจจุบันเราได้เริ่มมีการเก็บน้ำเชื้อบ้างแล้ว ดังนั้นหากเป็นการส่งไปยังประเทศอื่นเพื่อเป็นการสร้างเครือข่ายอนุรักษ์ก็เป็นการดีต่อสัตว์ป่า

: คุณ นิรันดร์ เสนอความเห็นว่าจากงานสัมมนาที่ผ่านมามีประเด็นเกี่ยวกับช้างที่น่าสนใจคือ เนื่องจากมีการนำช้างมาใช้งานหลายประเภท ทำให้ไม่สามารถออกกฎหมายรวมสำหรับช้างได้ เพราะมีทั้งช้างเลี้ยง ช้างป่า และช้างที่เป็นสัตว์พาหนะ

: คุณหมอปานเทพ กล่าวเพิ่มเติมว่าแต่มีการทับเส้นกันของกฎหมายเพราะในบางกรณีไม่สามารถพิสูจน์ได้ ซึ่งต้องหากระบวนการในการพิสูจน์ต่อไป ทำให้ล่าช้า

: คุณ โรเจอร์ ถามว่าทำไมไม่มีการชี้แจงให้ทุกฝ่ายทราบเพื่อจะได้เข้าใจตรงกันเพื่อลดการวิพากษ์วิจารณ์

: คุณหมอปานเทพ แจ้งว่าเนื่องจากช้างทั้ง 8 ตัวเป็นช้างเลี้ยง ดังนั้นคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติจึงไม่มีอำนาจในการประชาสัมพันธ์เพราะดูแลเฉพาะเรื่องของสัตว์ป่าเท่านั้น

Next Step :

ให้ใช้เจตนารมณ์และแนวทางจากการสัมมนาที่ผ่านมาเป็นกรอบในการยกร่าง เนื่องจากการสัมมนาที่ผ่านมาเป็นการระดมความคิดจากทุกหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งถือว่าเป็นความแน่นในการร่าง พ.ร.บ.ของเรา หลังจากนั้นให้ฝ่ายกฎหมายร่วมกันทำเป็นตุ๊กตาขึ้นมาเพื่อนำมาพิจารณาอีกครั้งพร้อมๆกัน โดยให้กำหนดเป็นเค้าโครงก่อน นำเจตนารมณ์ที่ได้ทำเป็นแนวคิดที่ชัดเจนกว่านี้ โดยล้อกับร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมสุขภาพ ยังไม่ต้องใส่รายละเอียด กำหนดหน่วยงานที่จะเป็นเจ้าภาพ ถ้อยคำที่ใช้ในการร่างฯ ควรชัดเจนในเนื้อหา ไม่ต้องตีความ ป้องกันการผิดพลาดในการตีความ ซึ่งในขั้นตอนนี้จะใช้เวลาในการดำเนินการประมาณ 1 เดือนและจะนัดประชุมเพื่อพิจารณาตุ๊กตาที่ได้ต่อไป