ปัญหาสัตว์จรจัด กล่าวคือสุนัขและแมวกำลังเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของชุมชนใหญ่ๆ เช่น กรุงเทพฯ เชียงใหม่ พัทยา ภูเก็ต ฯลฯ และกำลังกลายเป็นปัญหาระดับชาติไปเสียแล้ว เพราะในแต่ละปีรัฐต้องเสียงบประมาณเป็นพันๆล้านบาท เฉพาะภายในกรุงเทพฯแห่งเดียวมีสุนัขจรจัดมากกว่า 1แสนตัว ในจำนวนนี้จะผสมพันธุ์ปีละ 2 ครั้ง ตกลูกครั้งละ 2-6 ตัว มีเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้าจำนวนมากและสามารถแพร่เชื้อให้สุนัขตัวอื่นๆได้ หากไม่คุมปริมาณอย่างถูกต้องสุนัขจรจัดและเชื้อพิษสุนัขบ้าก็จะไม่มีวันหมดไป แนวทางหนึ่งที่จะช่วยภาครัฐ และสังคมบรรเทาปัญหาสัตว์จรจัดและอันตรายจากโรคพิษสุนัขบ้าได้ ก็คือ โครงการบ้านอุปถัมภ์เพื่ออุปการะสัตว์จรจัด ซึ่งดำเนินการโดยสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย
วัตถุประสงค์ในการดำเนินงาน
- เพื่อสร้างภาระใจและความร่วมมือในการแก้ปัญหาสัตว์จรจัด
- เพื่อประสานความร่วมมือระหว่างกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์จรจัดกับผู้มีความประสงค์จะอุปถัมภ์สัตว์จรจัด
- เพื่อเป็นแนวทางในการลดภาระความรับผิดชอบของกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์จรจัดลงได้
- เพื่อให้โอกาสประชาชนทั่วไปได้มีส่วนร่วมในการอุปการะเลี้ยงสัตว์จรจัด
- เพื่อให้สัตว์จรจัดได้มีคุณภาพที่ดีขี้นทั้งทางด้านกายภาพและมีสุขภาพจิตที่ดี
ประเภทของกิจกรรม
- ประสานงานระหว่างกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์จรจัดกับผู้ที่มีความประสงค์จะอุปถัมภ์สัตว์จรจัด
- เผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างจิตสำนึกในการให้ความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาสัตว์จรจัด
- บริการข้อมูลต่างๆแก่ผู้ที่มีความประสงค์ในการที่จะอุปถัมภ์สัตว์จรจัดและประชาชนทั่วไป
- จัดทำฐานข้อมูลและรวบรวมผลงานที่ได้จากการดำเนินงานของโครงการ เพื่อเป็นแหล่งอ้างอิงข้อมูลความรู้ในด้านการแก้ปัญหาสัตว์จรจัด
ตลอด 1 ปีที่ได้ดำเนินการ สมาคมฯสามารถหาผู้อุปการะสัตว์จรจัดได้ 61 ราย และนอกเหนือจากนี้ สมาคมฯยังบริการให้ความช่วยเหลือโดยตรงแก่กลุ่มผู้อุปการะสัตว์จรจัดในที่ต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด เพื่อแบ่งเบาภาระให้แก่กลุ่มผู้อุปการะสัตว์เหล่านี้ที่มีภาระเลี้ยงดูสัตว์จำนวนมากๆ แต่ขาดอาหาร ยารักษาโรค ปัจจัยพื้นฐาน ตลอดถึงการดูแลรักษาสุนัขที่ถูกต้อง
นอกเหนือจากการพัฒนาศักยภาพของกลุ่มผู้ดูแลสัตว์ให้สามารถฉีดวัคซีนป้องกันโรคชนิดต่างๆของสุนัขได้ และการรวมกลุ่มของสัตวแพทย์อาสาเพื่อช่วยเหลือ ฯลฯ ปัจจุบันมีผู้อุปการะสัตว์จรจัดที่อยู่ในเครือข่ายของสมาคมฯจำนวน 14 ราย รวมเป็นสุนัขและแมวที่จะต้องดูแลจำนวนกว่า 5,000 ตัว โดยจำนวนนี้จะเพิ่มขึ้นทุกๆเดือน ซึ่งคาดว่าจะครบ 1 หมื่นตัวภายในอีก 6 เดือนข้างหน้าและจะขยายให้ครอบคลุมชุมชนใหญ่ๆของประเทศเช่น เชียงใหม่ พัทยา ภูเก็ต ฯลฯ ในลำดับต่อไป เพื่อจัดระเบียบสัตว์จรจัด และช่วยเหลือกลุ่มผู้ดูแลสัตว์ดังกล่าวให้ได้ประโยชน์ ทางสมาคมฯจึงได้วางระเบียบกฎเกณฑ์สำหรับผู้ที่จะนำสัตว์จรจัดเข้าร่วมในโครงการบ้านอุปถัมภ์ดังต่อไปนี้
- ต้องขึ้นทะเบียนเป็นสถานที่เพื่อดูแลสัตว์จรจัดกับทางสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย
- ต้องมีสัตว์ในการอุปการะที่ไม่มีเจ้าของไว้ในครอบครองเป็นจำนวนไม่ต่ำกว่า 30 ตัวขึ้นไป
- สถานที่ดูแลสัตว์จะต้องมีพื้นที่ รั้วรอบขอบชิด มีกำบังแดดและฝน พร้อมอุปกรณ์เลี้ยงดูที่เหมาะสม ไม่สร้างความเดือดร้อน และรบกวนเพื่อนบ้าน ตลอดจนไม่สร้างปัญหาให้กับสาธารณชน
- มีการจัดการที่ดี มีผู้ดูแลอยู่เป็นประจำ
- ไม่เลี้ยงดูสัตว์ในเชิงพาณิชย์ โดยการรับซื้อหรือจำหน่าย
- ไม่นำสิ่งของที่ได้รับจากการบริจาคทางสมาคมฯ ไปจำหน่าย หรือหาผลประโยชน์อย่างอื่น
- ให้ความร่วมมือ สนับสนุน กิจกรรมของสมาคมฯ เพื่อประโยชน์ต่อส่วนร่วม
รายชื่อและสถานที่ของผู้อุปการะสัตว์จรจัดภายใต้การดูแลของสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA)
- สำนักงานพุทธมณฑล เกาะสุนัข จ.นครปฐม
- ด่านกักกันสัตว์สระแก้ว จ.สระแก้ว
- มูลนิธิเพื่อการช่วยเหลือสุนัขจรจัด กรุงเทพฯ
- คุณ วิลแฮล์ม ไมเยอร์ กรุงเทพฯ
- คุณ สำเนียง หายักวงศ์ กรุงเทพฯ
- คุณ นิดา รสรื่น กรุงเทพฯ
- คุณ ณัฐรุจา พลับพลี กรุงเทพฯ
- คุณ อำพร รัตนวิมล กรุงเทพฯ
- คุณ สุรชัย โลหะชิต จ.สมุทรปราการ
- คุณ หิรัญยศักร์ ปฐมหิรัญย์กุล จ.ปทุมธานี
- คุณ สุพรรณษา เพชรศิระประภา จ.จันทบุรี
- คุณ สำรวย โตพฤกษา จ.นครนายก
- คุณป้า บัว จ.อยุธยา
- คุณ ศิริกาญจนา หมื่นจำเริญ กรุงเทพฯ
- คุณ รัตนา นครสุต จ.นครศรีธรรมราช