ลงพื้นที่ช่วยเหลือสุนัขแมวจรจัดขาดแคลนอาหาร วัดสุวรรณเจดีย์ จ. พระนครอยุธยา

TSPCA ลงพื้นที่ช่วยเหลือสุนัขแมวจรจัดขาดแคลนอาหาร วัดสุวรรณเจดีย์ จ. พระนครอยุธยา

1

เมื่อวันที่ 20 ก.ค.61 ที่ผ่านมา สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย(TSPCA) โดย ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล เลขาธิการและผู้อำนวยการสมาคมฯ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สมาคมฯ ร่วมกับปศุสัตว์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปศุสัตว์อำเภอเสนา ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและช่วยเหลือสุนัขและแมวจรจัดขาดแคลนอาหาร กว่า 40 ตัว ที่ถูกคนนำมาปล่อยทิ้งอย่างต่อเนื่องที่วัดสุวรรณเจดีย์ ม.3 ต.หัวเวียง อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา โดยมีพระนิรันดร์ ซึ่งแม้จะขาพิการแต่ด้วยความเมตตา ได้เสียสละรับภาระเลี้ยงดูแลสัตว์จรจัดเหล่านั้น โดยสมาคมฯ ได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและประชาชนในพื้นที่ร่วมดำเนินงานแบบบูรณาการ การให้ความรู้เรื่องโรคพิษสุนัขบ้าแก่ประชาชนในพื้นที่และรณรงค์การหยุดทิ้งสัตว์

ดร.สาธิต เปิดเผยว่า สมาคมฯ ได้เสนอต่อคณะกรรมการมหาเถรสมาคมกำหนดเขตพื้นที่วัด เป็นเขตห้ามปล่อยสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควร เนื่องจากในปัจจุบันแม้พื้นที่เขตวัด ได้กำหนดเป็นเขตอภัยทาน ตามคำสั่งมหาเถรสมาคม เรื่อง กำหนดเขตอภัยทานในพื้นที่วัด พ.ศ. 2538 แล้วก็ตาม เพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์บก สัตว์น้ำ ตลอดถึงปักษีทวิชาติที่ไม่เป็นพิษเป็นภัย โดยได้อาศัยด้วยความร่มเย็นเป็นสุขปราศจากการถูกเบียดเบียน หรือรบกวนด้วยประการใดๆ แต่ในปัจจุบันพบว่าพื้นที่วัดส่วนใหญ่ได้มีผู้นำสัตว์มาปล่อย ละทิ้งเป็นจำนวนมากจะเป็นสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัขและแมว หรือไม่ว่าสัตว์ป่า เช่น นก เต่า หมูป่า เป็นต้น ทำให้เกิดการแพร่กระจายขยายพันธุ์ของสัตว์นั้นเป็นจำนวนมาก บางครั้งอาจจะสร้างความเดือดร้อนรำคาญ เป็นภาระกับทางพระภิกษุ สามเณร ในการปฏิบัติศาสนกิจรวมถึงประชาชนในพื้นที่รอบข้าง

อีกทั้งบางพื้นที่บางวัด มีการจัดจำหน่ายทำธุรกิจการค้าชีวิตสัตว์ เพื่อนำมาปล่อย ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมเพราะส่วนใหญ่จะเป็นการทำลายวงจรชีวิตสัตว์ตามธรรมชาติและเป็นการทารุณสัตว์อันไม่สมควร เช่น การปล่อยเต่าในน้ำเชี่ยวที่ไม่มีตลิ่งให้เกาะเต่าก็จะตาย ปล่อยเต่าที่มีน้ำกร่อยหรือผิดน้ำจะทำให้เต่าตาบอดและตายเช่นกันการปล่อยหอยขมต้องอยู่ในที่ชื้นแฉะเช่นบึงคลองไม่ใช่แม่น้ำ  การปล่อยปลาไหลในน้ำไหลแรงปลาไหลก็อยู่ไม่ได้หรืออาจช็อกในน้ำที่มีอุณหภูมิและสิ่งแวดล้อมแตกต่างจากที่เคยเติบโตมาได้ และที่สำคัญการปล่อยสัตว์นั้นอาจก่อให้เกิดการแพร่กระจายของไวรัสสารพัดชนิดได้อีกด้วย

ดร.สาธิต กล่าวอีกว่า แม้ปัจจุบันมีพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557  กำหนด มาตรา 23 ห้ามมิให้เจ้าของสัตว์ ปล่อย ละทิ้ง หรือกระทำการใดๆ ให้สัตว์พ้นจากการดูแลของตนโดยไม่มีเหตุอันสมควร มาตรา 32 เจ้าของไม่ปฏิบัติหรือฝ่าฝืนมาตรา 23 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 กำหนด มาตรา 16,19,20 ประกอบมาตรา 47 ห้ามล่า ครอบครองและการค้า สัตว์ป่าคุ้มครอง ถ้าไม่ ปฏิบัติหรือฝ่าฝืน ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกินสี่ปีหรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ก็ตามแต่ปัญหาการทอดทิ้งสัตว์หรือนำสัตว์มาปล่อยในวัดก็ยังไม่ลดลง

ทั้งนี้ สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) ในฐานะองค์กรภาคเอกชน ซึ่งเป็นผู้นำภาคประชาชนในการรณณรงค์และผลักดันให้มีพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557มากว่า 24 ปี ได้จัดทำภาพยนตร์สั้น “ปล่อยนก บุญหรือบาป?” และ “รักไม่ปล่อย” เพื่อเป็นการรณรงค์ ปลูกจิตสำนึกให้ประชาชน ได้เห็นถึงคุณค่าและสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปล่อยนก ว่าเป็นบุญหรือบาป?  และการเลี้ยงสัตว์ ต้องมีความรับผิดชอบ “รักไม่ปล่อย” โดยเฉพาะในเขตพื้นที่วัด

นอกจากนี้ สมาคมฯ ได้ทำหนังสือเลขที่ ท.ปก. 455/61 เรื่องขอความอนุเคราะห์มติมหาเถรสมาคม(มส.) ในเรื่องการกำหนดเขตพื้นที่วัด เป็นเขตห้ามปล่อยสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควร เพื่อขอความอนุเคราะห์มติจากคณะกรรมการมหาเถรสมาคม ให้ถือเป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับในเขตพื้นที่วัด ทุกวัด ดังนี้ 1. ให้กำหนดเขตพื้นที่วัด เป็นเขตห้ามเจ้าของสัตว์ นำสัตว์มาปล่อย ละทิ้ง หรือกระทำใดๆ ให้สัตว์พ้นจากการดูแลของตนโดยไม่มีเหตุอันสมควร 2.ให้กำหนดเขตพื้นที่วัด เป็นเขตห้ามซื้อขายหรือการทำธุรกิจเกี่ยวกับการค้าชีวิตสัตว์ภายในเขตวัด 3.ให้วัดต่างๆ ถือปฏิบัติตามพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 โดยเคร่งครัด ล่าสุดที่ประชุมมหาเถรสมาคม ครั้งที่ 19/2561 วันที่ 10 กรกฎาคม 2561 ได้มีมติที่ 410/2561 รับทราบเรื่องการจัดทำหลักเกณฑ์ วิธีการในการปล่อยสัตว์ในวัดแล้ว