TSPCA ลงพื้นที่คอนโดสุนัขวัดสวนแก้ว ‘หมอปานเทพ’เสนอแนวคิดขึ้นทะเบียนสุนัข

1

              สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) ลงพื้นที่คอนโดสุนัขวัดสวนแก้ว ‘หมอปานเทพ’เสนอแนวคิดขึ้นทะเบียนสุนัข

24 พ.ค.61 สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) นำโดย ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล เลขาธิการสมาคมฯ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สมาคมฯ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและช่วยเหลือสุนัขจรจัดกว่า 800 ตัว ที่คอนโดสุนัขวัดสวนแก้ว พร้อมบริจาคอาหารสัตว์ให้กับทางวัดเพื่อช่วยเหลือสัตว์จรจัดที่อยู่ภายใต้การดูแลของพระราชธรรมนิเทศ (พยอม กัลยาโณ) เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว จ.นนทบุรี กว่า 24 ปีที่ผ่านมาสมาคมฯ ได้รณรงค์จัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันการทารุณกรรมและจัดสวัสดิภาพสัตว์ โดยแก้ปัญหาทั้งต้นเหตุและปลายเหตุ  รณรงค์ปลูกฝังและสร้างจิตสำนึกในเรื่องความเมตตากรุณาต่อสัตว์ ให้แก่เยาวชนของชาติ เช่น โครงการรักสัตว์ในโรงเรียนเพื่อเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการดูแลสัตว์ การเสริมสร้างจิตสำนึกแห่งความรัก ความเมตตาต่อสัตว์แก่เยาวชน

นอกจากนี้ ยังจัดทำภาพยนตร์สั้น “รักไม่ปล่อย” ปลุกจิตสำนึกการเลี้ยงดูแลสัตว์ มีความรับผิดชอบและวุฒิภาวะอันเหมาะสมและมีความพร้อมในการเลี้ยงตลอดอายุขัย  และหากเกิดการปล่อยสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควร นำมาสู่การปัญหาอื่น เช่น การแพร่ระบาดของโรค การสร้างความเดือดร้อนรำคาญและอาจนำมาสู่ปัญหาการทารุณกรรมสัตว์ได้  โดยต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการแก้ปัญหาสัตว์จรจัดของประเทศให้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนต่อไป

รศ.นสพ.ปานเทพ รัตนากร คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.มหิดล อุปนายกสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) เปิดเผยว่า ร่ำๆ ว่าจะมีการออกกฎหมายขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงมาเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของกฎหมายป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ฯ ซึ่งคลอดมา 3 ปีแล้ว แต่ไปไม่ได้ถึงไหน ปัญหาหมาจรจัดที่มาจากการถูกทอดทิ้งยังคงปรากฏ เช่นเดียวกับกรณีโรคเรบีส์ที่ระบาดอย่างครึกโครม เสาหลักของการแก้ไขปัญหาหมาจรจัดที่ประกอบด้วย  (1) ขึ้นทะเบียนหมาเลี้ยง  (2) ทำหมัน และฉีดวัคซีน  (3) จัดสถานสงเคราะห์ และหาบ้านใหม่ และ  (4) สร้างสำนึกความรับผิดชอบในการเลี้ยงสัตว์ ต้องดำเนินอย่างควบคู่กันไปตลอดเวลา ลำพังเพียงเสาใดเสาหนึ่ง มิอาจค้ำจุนให้การจัดการแก้ปัญหาหมาจรจัดให้บังเกิดผลสัมฤทธิ์ได้

สำหรับประเด็นการขึ้นทะเบียนหมาเลี้ยงที่กำลังพูดถึงนี้มิใช่ว่าจะไม่เคยมีมาในบ้านเรา กรุงเทพมหานครฯออกกฎกติกามาแล้วโดยสำนักอนามัย จัดพิมพ์เป็นคู่มือชื่อว่า “การจดทะเบียนสุนัขในกรุงเทพมหานคร”ออกตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่องการควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสุนัข พ.ศ. 2548 จวบจนบัดนี้ พ.ศ. 2561 สิริรวมได้ 13 ปี มีหมาไปขึ้นทะเบียนสองแสนกว่าตัว จากนับล้าน !!  สำเร็จแค่ไหนลองคิดกันดู

ยิ่งถ้ากฎหมายใหม่ที่จะออกมามอบหมายให้หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินการขึ้นทะเบียนภายใต้อำนาจของตนเองแล้ว นึกภาพดูเถิดครับว่าในสยามประเทศนี้จะมีความหลากหลายของวิธีการและการเก็บข้อมูลทะเบียนหมาขนาดไหน ?

ทั้งนี้ ขอนำเสนอแนวคิดการขึ้นทะเบียนหมาที่พอจะเก็บเกี่ยวจากประสบการณ์ร่วมทำงานกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชน พอเป็นข้อมูลเบื้องต้นให้นำไปปรับใช้ตามความต้องการ ดังนี้ครับ

การทำเครื่องหมายประจำตัวหมา :หมาบ้านทุกตัวที่ขึ้นทะเบียนต้องสามารถระบุตัวได้จึงต้องมีเครื่องหมายประจำตัวโดยใส่ปลอกคอที่มีหมายเลข และ หรือ QR code ติดอยู่ พร้อมกับฉีดไมโครชิป เป็นเครื่องหมายประจำตัวอย่างถาวร เหตุที่ต้องมีเครื่องหมายทั้ง 2 อย่างนี้ เนื่องจากหมายเลขที่ปลอกคอนั้นมองเห็นได้ด้วยตาสะดวกดีก็จริงแต่สามารถหลุดหายได้ ในขณะที่ไมโครชิปติดอยู่ในร่างกายสัตว์เป็นถาวรไม่มีวันหลุดหาย แต่มิสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า จึงต้องใช้ควบคู่เพื่อให้เสริมกันและกัน

สถานที่และผู้ทำการขึ้นทะเบียน  :เพื่อช่วยให้หน่วยงานภาครัฐที่มีทรัพยากรจำกัด ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงเห็นว่าน่าจะขอความร่วมมือจากภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตวแพทย์ผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ ที่มีสถานพยาบาลสัตว์ คือคลินิกและโรงพยาบาลสัตว์อันต้องถูกขึ้นทะเบียนตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาลสัตว์กับกรมปศุสัตว์อยู่แล้ว ทั้งยังมีจำนวนนับพันแห่ง กระจายทุกภูมิภาคของประเทศ ซึ่งหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถประสานหาความร่วมมือในการมอบหมายให้เป็นผู้ทำการขึ้นทะเบียนหมาเหล่านั้น โดยได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์ทำเครื่องหมายทั้งหมายเลขประจำตัวที่ติดปลอกคอ และไมโครชิป พร้อมเครื่องอ่านหมายเลขไมโครชิป สัตวแพทย์ประจำคลินิกหรือโรงพยาบาลสัตว์จะเป็นผู้รับหน้าที่มาทำเครื่องหมาย บันทึกประวัติขึ้นทะเบียนและออกบัตรประจำตัวหมาตัวนั้น

ในขณะเดียวกันคลินิกและโรงพยาบาลสัตว์ดังกล่าวจะเป็นจุดตรวจสอบหรืออ่านหมายเลขไมโครชิปประจำตัวสัตว์ที่สงสัยในกรณีหมาที่พลัดหลงจากเจ้าของ หรือหมาจรจัด ก่อนถูกจับส่งสถานสงเคราะห์สัตว์ด้วย ซึ่งจะมีอยู่ทั่วทุกหัวระแหง ตลอดจนหมาที่ปลอกคอและหมายเลขหลุดหายไปจำต้องยืนยันด้วยการตรวจจากไมโครชิปโดยคลินิกเหล่านี้ได้

วิธีปฏิบัติ  : ภาครัฐหรือหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น ประสานงานกับสัตวแพทย์ผู้ประกอบการฯประจำคลินิก และโรงพยาบาลสัตว์ในพื้นที่เพื่อแสวงหาความร่วมมือในการเป็นหน่วยขึ้นทะเบียนโดยจัดหมายเลขประจำตัวสัตว์แบบห้อยติดปลอกคอ ไมโครชิปและเครื่องอ่าน ตลอดจนเอกสารการขึ้นทะเบียนไว้ให้ตามคลินิกที่เข้าร่วมโครงการ ทำป้ายประกาศประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านรับทราบผ่านทุกๆสื่อเพื่อให้สามารถนำหมาของตนไปรับการขึ้นทะเบียนจากสถานที่นั้นๆ โดยอาจช่วยสร้างแรงดึงดูดใจด้วยบริการฉีดวัคซีนเรบีส์ฟรีควบคู่กันไปก็จะยิ่งทำให้มีผู้นำหมาบ้านหรือหมาเลี้ยงเข้าร่วมโครงการสูงขึ้น เราจะมีหมาที่ขึ้นทะเบียนอย่างครบถ้วน ถูกต้อง

โดยข้อมูลเหล่านี้จะถูกส่งต่อจากสถานประกอบการไปยังส่วนงานที่เป็นเจ้าภาพมีฐานข้อมูลกลาง ต้องการรายงานวันต่อวันก็ยังได้โดยทำผ่านโทรศัพท์มือถือที่จัดทำแอปขึ้นมารองรับให้สะดวกแก่การใช้งาน หน่วยราชการท้องถิ่นและส่วนกลางที่เกี่ยวข้องจักได้รับข้อมูลการขึ้นทะเบียนหมาอย่างเป็นปัจจุบัน สามารถนำไปใช้วางแผนการควบคุมโรค เรบีส์ เช่นเดียวกับการเสริมสร้างการแก้ไขปัญหาหมาจรจัดและโรคเรบีส์ไปในขณะเดียวกัน

“พอเห็นทางเป็นไปได้และการช่วยแก้ปัญหาหมาจรจัดจากการขึ้นทะเบียน แต่อย่าเข้าใจผิดว่าพอขึ้นทะเบียนหมาบ้านหรือหมาเลี้ยงเสร็จแล้ว หมาจรจัดจะหมดไปปั๊ป โรคเรบีส์จะหายไปพลัน หากคิดเช่นนั้นละก็กรุณาย้อนกลับไปอ่านตั้งแต่ต้นอีกครั้งหนึ่งครับ” รศ.นสพ.ปานเทพ กล่าว