3 ปี พ.ร.บ. ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557

3 ปี พ.ร.บ. ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557

3 years

โดย ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล เลขาธิการ สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA)
โบราณกาล มนุษย์ออกล่าสัตว์ เพื่อนำเนื้อมาบริโภค เขาหนัง ขน นำมาใช้เป็นเครื่องนุ่งห่ม เริ่มตั้งถิ่นฐานเกิดองค์ความรู้ ด้านเกษตร ชลประทาน รวมทั้งการเลี้ยงสัตว์ ใช้สัตว์เป็นแรงงานและเป็นอาหาร สัตว์ก็เริ่มมีความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนกับมนุษย์มากขึ้น มนุษย์เริ่มเลี้ยงและรักษาพยาบาลสัตว์
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ สมัยทราวดี เริ่มมีการใช้สัตว์เป็นพาหนะลำเลียงสินค้า สมัยพ่อขุนรามคำแหง ในศิลาจารึก พ.ศ.1835 มีการใช้สัตว์ในการทำสงคราม ทำมาหากิน โดยมีเรื่องราวที่พระองค์ชนช้างชนะที่เมืองฉอด อาณาจักรสุโขทัยได้กล่าวถึงการค้าขายช้างม้า และใช้วัว ควายขนส่ง รวมทั้งใช้ม้าเป็นพาหนะ สมัยอยุธยาเริ่มมีการแต่งตั้งตำแหน่งสำคัญสำหรับคนเลี้ยงและดูแลสัตว์ โดยเฉพาะ “กรมช้าง” ถือศักดินา 5,000 ไร่ “กรมม้า” ถือศักดินา 3,000 ไร่
หลังสนธิสัญญาเบาว์ริง ใน พ.ศ.2398 มีการออกกฎหมายสำหรับควบคุมการค้าขายและรัฐยังสามารถขึ้นทะเบียนสัตว์เพื่อให้ทราบจำนวนได้ รัชกาลที่ 5 ในพ.ศ.2435 มีการปฎิรูประบบราชการตั้งกระทรวงเกษตราธิการ ในปี 2435 จึงมีการตราพระราชบัญญัติสัตว์ พาหนะ ร.ศ. 110 ขึ้น
พ.ศ.2445 รัฐบาลสยาม ออกข้อบังคับสำหรับ “ป้องกันการทรกรรมสัตว์ ซึ่งบรรทุกลงกำปั่นไปจากกรุงสยาม” ข้อบังคับดังกล่าวถือว่าเป็นกฎหมายฉบับแรกที่รัฐบาลสยามแสดงให้เห็นถึงมนุษยธรรมที่มีต่อสัตว์ซึ่งถูกขนส่งจากสยาม และมีจุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อปกป้องสวัสดิภาพและความเป็นอยู่ของสัตว์ในขณะเดินทาง สาระสำคัญที่กำหนดเช่น การจัดประเภท เรือกำปั่นในการบรรทุกสัตว์พาหนะ ลักษณะใบสำคัญของการจดทะเบียนคอกสัตว์ ให้น้ำจืด ผ้าคาดบังร่ม ให้มีหญ้าและน้ำ อำนาจกัปตันเรือที่จะฆ่าสัตว์
พ.ศ. 2503ได้ออกพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการล่าสัตว์ใกล้สูญพันธ์ อย่าง แรด กระซู่ หรือควายป่า มีการออกพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ในสมัยรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน
ในต่างประเทศ ในปีพ.ศ.2454 อังกฤษ โดย เฮอเบิร์ต เฮนรี่ แอสคิน นายกรัฐมนตรี ตราพระราชบัญญัติปกป้องสัตว์ ค.ศ.1911 เป็นต้นแบบ ของกฎหมายคุ้มครองสวัสดิภาพสัตว์ ซึ่งในเวลาต่อมาถูกนำไปใช้ในประเทศ อาณานิคมทั้งในสิงคโปร์รวมทั้งประเทศไทยด้วย สาระสำคัญคือ คุ้มครองไม่ให้คนทำร้ายสัตว์ด้วยวิธีการต่างๆ รวมทั้งจะต้องรักษาสัตว์เมื่อยามสัตว์นั้นเจ็บป่วย นอกจากนั้นยังควบคุมการขนส่งและจะต้องไม่ทารุณสัตว์ โดยครอบคลุมถึงสัตว์ทุกชนิดที่มนุษย์สามารถใช้งานได้ เช่น ม้า แกะ แพะ หมู สุนัข แมว รวมถึงสัตว์ปีกด้วย และมีการตราพระราชบัญญัติปกป้องสัตว์ (ที่กระทำทารุณต่อสุนัข) บทลงโทษผู้ขัดคำสั่ง ปรับ 25 ปอนด์ หรือจำคุก 3 เดือน หลังจากนั้นก็มีการปรับปรุงมาเป็นลำดับ เช่น พ.ศ.2527 ตราพระราชบัญญัติสุขภาพและสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2549 ตราพระราชบัญญัติสวัสดิภาพสัตว์ โดย เพิ่มการลงโทษและปรับให้ทันยุค เช่น กรณีเจ้าของสัตว์ทำร้ายสัตว์เลี้ยงโดยไม่จำเป็น จะต้องถูกจำคุก เป็นเวลาไม่เกิน 51 สัปดาห์ หรือปรับเงินเป็นจำนวน 20,000 ปอนด์ หรือทั้งจำทั้งปรับ ในปี พ.ศ.2509 สหรัฐอเมริกา ออกกฎหมายคุ้มครองสวัสดิภาพสัตว์ โดยประธานาธิบดีลินดอน บี.จอห์นสัน เป็นต้น
สำหรับประเทศไทย การกระทำการทารุณกรรมสัตว์นั้น เป็นความผิดกฎหมายของไทยตามกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 ตั้งแต่ปี พ.ศ.2452 และในประมวลกฎหมายอาญาที่ใช้ในปัจจุบัน เช่น มาตรา 381 (ทารุณสัตว์) ผู้ใดกระทำการทารุณต่อสัตว์หรือฆ่าสัตว์โดยให้ได้รับทุกขเวทนาอันไม่จำเป็น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา 382 (ใช้สัตว์ทำงานเกินควร) ผู้ใดใช้ให้สัตว์ทำงานจนเกินสมควรหรือใช้ให้ทำงานอันไม่สมควร เพราะเหตุที่สัตว์นั้นป่วยเจ็บ ชราหรืออ่อนอายุ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากการทารุณกรรมสัตว์แล้ว ลักษณะของ “สัตว์”นั้นเป็นเพียงแค่ “ทรัพย์” ของมนุษย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เท่านั้น หากมีผู้ใดทำให้เสียหาย เสื่อมค่าไร้ประโยชน์ เป็นการกระทำต่อสัตว์ของตนเอง หรือสัตว์ที่ไม่มีเจ้าของ ผู้กระทำนั้นย่อมไม่มีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์
พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 เกิดจากการรวมตัวของบุคคลที่ร่วมก่อตั้งสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย ในปี พ.ศ.2537 โดยมีเจตนารมณ์ตั้งแต่วันแรกของการก่อตั้งสมาคมฯ ต้องการให้มีกฎหมายป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ขึ้นจึงได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เช่น กรมปศุสัตว์ สภาทนายความ เครือข่ายองค์กรภาคเอกชน (NGO) กว่า 90 องค์กรและประชาชนผู้รักสัตว์ที่มีการตื่นตัว สมาคมฯได้รณรงค์และผลักดันร่าง พ.ร.บ. ป้องกันการทารุณกรรมและจัดสวัสดิภาพสัตว์ เรื่อยมา อีกทั้งในปี พ.ศ.2539 รายการสารคดีของสำนักข่าวต่างประเทศ รายงานสารคดีเกี่ยวกับการบริโภคเนื้อสุนัขของคนบ้านท่าแร่ จังหวัดสกลนคร และกลายเป็นข่าวครึกโครมไปทั่วโลก ทำให้ประเทศอังกฤษและสหภาพยุโรป ประณามประเทศไทยอย่างรุนแรง ในพ.ศ. 2555 สมาคมฯ ได้นำเสนอร่างพ.ร.บ.ป้องกันการทารุณสัตว์ฯ เข้าสู่การพิจารณาโดยรัฐสภาในนามภาคประชาชนที่ได้รับรองถูกต้องตามกฎหมายรัฐธรรมนูญในขณะนั้น กระทั่งมีการพิจารณาได้ระยะหนึ่งจนพ.ร.บ.ใกล้จะประกาศใช้ เกิดการยุบสภา ทำให้ต้องชะลอการพิจารณาออกไป
ในปี พ.ศ. 2557 คสช. นำร่าง พ.ร.บ.เก่า ค้างสภามาพิจารณาและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้เห็นชอบลงมติให้บังคับใช้เป็นกฎหมายโดยประกาศลงราชกิจจานุเบกษาวันที่ 26 ธ.ค. 57 และ ให้มีผลใช้บังคับใช้วันถัดมา หลังจากพ.ร.บ.ป้องกันการทารุณสัตว์มีสภาพใช้บังคับได้เพียง 4 วัน คือวันที่ 1 ม.ค.58 ก็มีคดีแรกที่มีการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ คือคดีทำร้ายสุนัขที่จังหวัดหนองคาย และศาลได้มีคำพิพากษาในความผิดดังกล่าว เมื่อวันที่ 6 ม.ค.58 ให้จำคุก 1 ปี ปรับ 2000 บาท แต่โทษจำคุกให้รอลงอาญา หลังจากนั้นก็มีคำพิพากษาตามมา อีกหลายคดี เช่น คดีตีสุนัขด้วยท่อนเหล็ก ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้จำคุก 1 เดือน ปรับ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา คดีซื้อสุนัขมาฆ่า ที่จังหวัดหนองคาย จำคุก 1 ปี ปรับ 6,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา คดีโยนสุนัขชิวาวา จากที่สูง ที่กทม. โทษจำคุก 2 เดือนไม่รอลงอาญา คดีพ่อค้าข้าวมันไก่ ฆ่าสุนัขที่ กทม. โทษกักขัง 2 เดือน ไม่รอลงอาญา คดีวางยาเบื่อสุนัขที่จังหวัดตาก โทษจำคุก 1 ปี ปรับ 6,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา คดีมอเตอร์ไซด์รับจ้าง ขอแมวมาฆ่า 9 ตัว โทษจำคุก 18 เดือนไม่รอลงอาญา (เนื่องจากเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน) กรณีที่มีหนุ่มใหญ่ได้ขี่รถจักยานยนต์และลากสุนัขจนได้รับบาดเจ็บที่ขาทั้งสี่ข้างเลือดไหล น่าทุกขเวทนา ให้จำคุก 6 เดือนปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 2 ปี เป็นต้น
จะเห็นได้ว่า 3 ปี ที่ผ่านมาก็จะพอพิสูจน์ได้ว่ากฎหมายดีมีเขี้ยวเล็บบังคับได้จริง โดยมีการร้องทุกข์ กล่าวโทษ ในคดีการทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควรกว่า 200 คดี มีคำพิพากษาของศาลแล้วไม่ต่ำกว่า 20 คดีและมีอีกหลายคดีกำลังเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม หลายคดีสามารถนำตัวผู้กระทำความผิดมารับโทษได้ทันที ด้วยระยะเวลาอันรวดเร็ว ทั้งจับ ปรับและจำคุกโดยไม่รอลงอาญา ซึ่งเป็นบรรทัดฐานใหม่ที่ดีของกฎหมายและสังคม
ดังนั้นแม้จะมีกฎหมายแล้ว แต่ทุกคนก็ต้องมีส่วนร่วมปฏิบัติตามกฎหมายและช่วยกันสอดส่องดูแล ให้ความรู้และการปลูกจิตสำนึกเปลี่ยนค่านิยมในด้านการทารุณกรรมสัตว์ กฎหมายฉบับนี้จะมีส่วนช่วยเหลือสัตว์ไม่ให้ได้รับการทารุณและมีการจัดสวัสดิภาพที่ดีอย่างมีมนุษยธรรมยิ่งขึ้น และขอให้ใช้ “กระบวนการยุติธรรม” ในการสร้างความ “ยุติธรรม” ให้เกิดขึ้นทั้งต่อมนุษย์และสัตว์ ซึ่งก็เป็นเป้าหมายแรกของ พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณสัตว์เช่นกัน “ในอันที่จะต่อสู้กับเจตนาร้ายและความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ที่มีต่อสัตว์”