สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) ลงพื้นที่บริการวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ณ วัดโตนด จ.พระนครศรีอยุธยา
วันที่ 9 เมษายน 2560 สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย(TSPCA) นำโดย นสพ.อลงกรณ์ มหรรณพ นายสัตวแพทย์ช่วยราชการสำนักพระราชวัง กรรมการสมาคมฯ นายสัตวแพทย์ ศ.สพญ. ดร.อัจฉริยา ไศละสูต กรรมการสมาคมฯ ผศ.ดร.ภก.ไกรสร ชัยโรจน์กาญจนา เลขาธิการสมาคมฯ ร่วมจัดกิจกรรมรณรงค์ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ณ วัดโตนด ต.บางนางร้า อ.บางปะหัน จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีหน่วยงานด้านสาธารณสุข ปศุสัตว์อำเภอบางปะหัน จ.พระนครศรีอยุธยา สัตวแพทย์จิตอาสาจากชมรมต่อต้านโรคพิษสุนัขบ้าคณะสัตวแพทย์จุฬาฯ และประชาชนในพื้นที่ร่วมดำเนินงานแบบบูรณาการ โดยจัดบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแก่สุนัข การให้ความรู้เรื่องโรคพิษสุนัขบ้าแก่ประชาชนในพื้นที่ และรณรงค์การหยุดทิ้งสัตว์ ซึ่งมีความผิดตามพรบ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 มาตรา 23 ประกอบมาตรา 32 ต้องระวังโทษปรับไม่เกิน 40,000 บาท ซึ่งสมาคมเป็นผู้นำภาคประชาชนในการผลักดันพรบ.ดังกล่าว
สมาคมฯ ได้ร่วมกิจกรรมออกหน่วยเคลื่อนที่ให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าครั้งนี้ สืบเนื่องจากที่ผ่านมาสมาคมฯ ได้ลงพื้นที่ติดตามการดูแลเลี้ยงดูสุนัขวัดโตนด โดยท่านพระครูอุปจิตบุญญวัฒน์ เจ้าอาวาส ได้แบกรับภาระการเลี้ยงดูสุนัข จำนวนกว่า 500 ตัว ซึ่งเกิดจากการนำสุนัขมาปล่อยในบริเวณวัด สมาคมฯ มีความห่วงใยในกรณีดังกล่าวจึงได้ดำเนินการเพื่อช่วยเหลือในด้านการจัดสวัสดิภาพที่เหมาะสม อีกทั้งสมาคมฯ ตระหนักถึงปัญหาจากโรคพิษสุนัขบ้า โรคสัตว์สู่คนที่ร้ายแรง คนหรือสัตว์ที่เป็นโรคนี้จะเสียชีวิตทุกราย แต่ก็สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเป็นประจำทุกปี โดยองค์การอนามัยโลกและองค์กรโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ ตั้งเป้าหมายว่าโรคพิษสุนัขบ้าจะหมดไปจากโลกในปี 2563 หรือค.ศ.2020 จึงเป็นแรงกระตุ้นให้ทั่วโลก เร่งรัดการกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปจากทุกประเทศทั่วโลก
นสพ.อลงกรณ์ มหรรณพ นายสัตวแพทย์ช่วยราชการสำนักพระราชวัง กรรมการสมาคมฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมาสมาคมฯ ได้จัดกิจกรรมรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามาอย่างต่อเนื่อง สำหรับประชากรสุนัขที่มีเจ้าของหรือสุนัขบ้านประมาณ 6 แสนตัว ส่วนสุนัขที่ไม่มีเจ้าของหรือสุนัขจรจัดประมาณ 1 แสนตัว ซึ่งสาเหตุของการเกิดสุนัขจรจัดส่วนใหญ่ เกิดจากผู้เลี้ยงนำมาปล่อยตามสถานที่สาธารณะเพราะไม่สามารถเลี้ยงดูต่อได้ แม้ว่าในกรุงเทพฯ จะไม่มีรายงานประชาชนเสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าเป็นเวลากว่า 5 ปี โดยในปี 2558 พบสุนัขที่ติดเชื้อเพียง 5 ตัว แต่กว่า 40 เปอร์เซ็นต์ของสุนัขที่ติดเชื้อจะเป็นสุนัขเลี้ยง เนื่องจากผู้เลี้ยงไม่มีความรู้เพียงพอ และไม่นำสุนัขไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคที่เหมาะสม โรคพิษสุนัขบ้าสามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน โดยนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนเมื่ออายุ 3 เดือนขึ้นไป และฉีดซ้ำทุกปี นอกจากฉีดวัคซีนแก่สัตว์แล้ว ควรลดความเสี่ยงจากการถูกสุนัขกัดหรือโดนทำร้าย
“กรณีหากถูกสุนัขบ้านหรือถูกสุนัขจรจัด แมว หรือสัตว์อื่นๆ กัดให้รีบล้างแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลายๆครั้ง ใส่ยาฆ่าเชื้อ อาทิ เบตาดีน เพื่อช่วยลดอัตราเกิดโรคได้ถึงร้อยละ 80-90 และรีบไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขให้เร็วที่สุด เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคจนครบตามที่แพทย์แนะนำ หรือหากพบเห็นสัตว์ที่สงสัยว่าอาจเป็นโรคพิษสุนัขบ้า มีอาการ หางตก เดินโซเซ น้ำลายย้อย ลิ้นห้อย ตาขวาง ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ หรือผู้นำชุมชนให้ช่วยกันจับโดยระมัดระวังอย่าให้ถูกกัด แล้วกักสัตว์ไว้ดูอาการ 10 วัน หากสัตว์ตายให้นำหัวสัตว์ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการต่อไป” นสพ.อลงกรณ์ กล่าว