TSPCA ร่วมลงพื้นที่กับกรมอุทยานแห่งชาติฯ ณ วังช้างอยุธยา แล เพนียด จ.พระนครศรีอยุธยา
เก็บตัวอย่างเลือดช้างตรวจดีเอ็นเอ (DNA) ป้องกันการนำช้างป่ามาสวมสิทธิเป็นช้างบ้าน
เมื่อเร็วๆ นี้ สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) โดยนายชัยชาญ เลาหศิริปัญญา เลขาธิการสมาคมฯ ได้ลงพื้นที่ กับ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกับกรมการปกครอง กรมปศุสัตว์ ดำเนินการเก็บตัวอย่างเลือดของช้างซึ่งเป็นสัตว์พาหนะ แล้วนำไปวิเคราะห์รหัสพันธุกรรม (DNA) ไว้เป็นฐานข้อมูล สำหรับให้กรมการปกครองบันทึกเป็นข้อมูลในตั๋วรูปพรรณช้าง ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 60/2559 ลงวันที่ 28 กันยายน พุธศักราช 2559 เรื่อง มาตรการป้องกันการนำช้างป่ามาสวมสิทธิเป็นช้างบ้าน โดยมี นายอดิศร นุชดำรงค์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าดังกล่าว ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เรื่องมาตรการป้องกันการนำช้างป่ามาสวมสิทธิเป็นช้างบ้าน โดยได้มอบภารกิจให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมอุทยานแห่งชาติฯ กรมปศุสัตว์ และกรมการปกครอง ดำเนินการร่วมกัน โดยแบ่งการดำเนินงานในรูปแบบบูรณาการร่วมกัน เช่น กรมการปกครอง ให้ประชาสัมพันธ์ชี้แจงให้เจ้าของช้าง ผู้ครอบครองช้าง และควาญช้างทราบรายละเอียดคำสั่งดังกล่าว และแจ้งนายทะเบียนท้องที่กำหนดวันและสถานที่เก็บตัวอย่างเลือดของช้าง ตรวจสอบรูปพรรณช้างว่าสอดคล้องกับตั๋วรูปพรรณช้างหรือไม่ ตรวจสอบรูปพรรณช้างที่ยังไม่ได้จัดทำตั๋วรูปพรรณช้างมาก่อน ออกหนังสือรับรองการเก็บตัวอย่างเลือด บันทึกข้อมูลรหัสพันธุกรรม (DNA) ไว้ในตั๋วรูปพรรณช้างทุกฉบับ
จากการเข้าร่วมลงพื้นที่ดังกล่าวนั้น ด้านกรมปศุสัตว์ จะดำเนินการในส่วนของแจ้งสัตว์แพทย์ในสังกัดให้ทราบ ประสานนายทะเบียนท้องที่เพื่อเก็บตัวอย่างในท้องที่ต่างๆ ดำเนินการเก็บตัวอย่างเลือดของช้างตามข้อมูลนายทะเบียนท้องที่ ส่งมอบตัวอย่างเลือดให้กรมอุทยานแห่งชาติฯ เพื่อวิเคราะห์รหัสพันธุกรรมต่อไป และการประชุมเพื่อยกร่างกฎหมายช้างไทยให้สอดคล้องกับกฎหมายอื่นๆ เพื่อให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน
สำหรับกรมอุทยานแห่งชาติฯ มีหน้าที่ในการจัดเก็บตัวอย่างเลือดของช้าง แล้วนำไปวิเคราะห์รหัสพันธุกรรม (DNA) ไว้เป็นหลักฐานข้อมูลเพื่อให้กรมการปกครองบันทึกเป็นข้อมูลในตั๋วรูปพรรณช้าง ดำเนินการวิเคราะห์สารพันธุกรรม (DNA) แล้วส่งให้กรมการปกครองบันทึกเป็นข้อมูลในตั๋วรูปพรรณช้าง ส่งสัตวแพทย์ไปร่วมกับกรมปศุสัตว์เก็บตัวอย่างเลือดช้าง ประสานกับขอเก็บตัวอย่างเลือดของช้างที่อยู่ในสวนสัตว์สาธารณะที่ได้รับอนุญาต และประสานกับหน่วยงานกลางสำหรับเก็บตัวอย่างเลือดไว้เป็นฐานข้อมูลเปรียบเทียบ (ธนาคาร DNA)
ซึ่งที่ผ่านมากรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้มีการกำหนดแผนปฎิบัติการตามมาตราการป้องกันการนำช้างป่ามาสวมสิทธิเป็นช้างบ้าน ทั้งการเตรียมความพร้อมของเจ้าหน้าที่เพื่อปฎิบัติตามแผนดังกล่าว เช่น การประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับเจ้าของช้างและคนเลี้ยงช้าง การเตรียมพร้อมเจ้าหน้าที่ในการเก็บตัวอย่างเลือดของช้างเพื่อตรวจสอบ (DNA) ให้แล้วเสร็จก่อนครบกำหนด 180 วัน
สำหรับวันนี้ เจ้าหน้าที่จากสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า และเจ้าหน้าที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 (สาขาสระบุรี) ร่วมกับกรมปศุสัตว์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อตรวจสอบรหัสพันธุกรรมช้างบ้าน ในพื้นที่นำร่องเพื่อประเมินปัญหา-อุปสรรค ในการปฎิบัติงาน เพื่อนำไปจัดทำคู่มือปฎิบัติงานของเจ้าหน้าที่ต่อไป ณ วังช้างอยุธยา แล เพนียด ถนนป่าโทน ตำบลประตูชัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในวันที่ 13 – 14 ตุลาคม 2559 ส่วนการดำเนินการในระดับจังหวัดนั้น กรมอุทยานแห่งชาติฯจะร่วมกับกรมปศุสัตว์ ดำเนินการวางแผนและกำหนดวันเวลาสถานที่เพื่อแจ้งให้เจ้าของนำช้างมาเก็บตัวอย่างเลือดรวมถึงประสานเก็บตัวอย่างเลือดของช้างที่อยู่ในสวนสัตว์สาธารณะที่ได้รับอนุญาตให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน กรณีหากเจ้าของช้างไม่นำช้างมาตรวจสอบดีเอ็นเอภายใน 180 วัน ให้ถือว่าช้างเชือกนั้นตกเป็นของแผ่นดิน
ปัจจุบันประเทศไทยมีช้างบ้านประมาณ 3,500 เชือก ซึ่งต้องมีการตรวจดีเอ็นเอว่ามีช้างป่าสวมสิทธิ์เป็นช้างบ้านหรือไม่ ทั้งนี้ไทยเป็นสมาชิกภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์(ไซเตส) ซึ่งที่ผ่านมาได้กำหนดมาตราการเร่งรัดดำเนินการกิจกรรมตามแผนปฎิบัติการงาช้างแห่งชาติ โดยการป้องกัน ระงับ และปราบปรามการนำช้างป่ามาสวมสิทธิเป็นช้างบ้าน และป้องกันการลักลอบค้างาช้างและลักลอบฆ่าช้างเอางาไปจำหน่ายในตลาดผิดกฎหมาย ซึ่งในปีหน้าไทยต้องการรายงานความคืบหน้าให้กับไซเตสได้รับทราบต่อไป