สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) จัดสัมมนาเครือข่ายผู้รักสัตว์
“ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557”
23 กรกฎาคม 2559 เวลา 10.00 น. ณ โรงแรมเคป ราชา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี นายธีระพงศ์ ปังศรีวงศ์ นายกสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) พร้อมด้วย คณะกรรมการบริหารสมาคมฯ เจ้าหน้าที่ และองค์กรเครือข่ายผู้รักสัตว์ทั่วประเทศ ร่วมประชุมสัมมนาเครือข่ายผู้รักสัตว์ ในหัวข้อเรื่อง “ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557”
สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) ได้ดำเนินการเพื่อรณรงค์ป้องกันและแก้ปัญหาการทารุณสัตว์ในรูปแบบต่างๆ มากว่า 22 ปี โดยเผยแพร่ข้อมูลความรู้และปลูกฝังจิตสำนึกให้เกิดความเมตตาต่อสัตว์ เพื่อให้บุคคลและเยาวชนทั่วไป ได้มีบทบาทในการป้องกันการทารุณสัตว์และการละเมิดสิทธิสัตว์
นายธีระพงศ์ เปิดเผยว่า โดยเจตนารมณ์ตั้งแต่วันแรกของการก่อตั้งสมาคมฯ ต้องการให้มีกฎหมายป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ขึ้น จึงได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เช่น กรม ปศุสัตว์ สภาทนายความฯ เครือข่ายองค์กรภาคเอกชน (NGO) กว่า 90 องค์กร และกลุ่มประชาชนผู้รักสัตว์ที่มีการตื่นตัว สมาคมฯ ได้รณรงค์และผลักดันร่าง พ.ร.บ. ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. …. และยื่นเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรในรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในนามภาคประชาชนที่ผ่านการรับรองถูกต้องตามกฎหมายรัฐธรรมนูญในขณะนั้น ต่อมาร่าง พ.ร.บ.ฯ ผ่านการลงมติเป็นเอกฉันท์รับหลักการโดยรัฐสภา และผ่านการกลั่นกรองของคณะกรรมการวิสามัญฯ แล้ว รอเพียงการลงมติในวาระสุดท้ายเพื่อบังคับใช้เป็นกฎหมายเท่านั้น แต่เนื่องจากมีการยุบสภาเสียก่อน ทำให้ร่างพ.ร.บ.ฯ นี้ถูกชะลอการพิจารณา แต่ในที่สุดคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้หยิบร่างพ.ร.บ.ฯ นี้มาพิจารณาและตั้งคณะกรรมาธิการฯ พิจารณาอีกครั้ง โดยได้เปิดโอกาสให้สมาคมฯ เข้าร่วมเป็นคณะกรรมาธิการพิจารณากลั่นกรองกฎหมาย จนกฎหมายนี้ผ่านออกมาและประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2557 ที่ผ่านมา
แม้ในระหว่างการพิจารณากลั่นกรองร่างพ.ร.บ.ฯ นี้จะมีกลุ่มคัดค้านโดยคนรักสัตว์บางกลุ่มซึ่งมีความเห็นว่าลักษณะของการทารุณกรรมสัตว์กว้างเกินไป ต้องการให้เฉพาะเจาะจงกว่านี้ อีกทั้งบทลงโทษก็ยังไม่แรงพอ ส่วนกลุ่มคัดค้านอีกกลุ่มหนึ่งกลับเห็นว่า กฎหมายมีโทษหนักเกินไป คุ้มครองและให้สิทธิสัตว์มากเกินไป เรื่องนี้ทำให้ต้องลุ้นพอสมควร เพราะถ้าไม่ผ่านการพิจารณาของสภาฯ ก็พลาดโอกาสสำคัญที่จะได้กฎหมายในการป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ ซึ่งมีการเรียกร้องรอคอยมาอย่างยาวนาน ถึงแม้ตอนนี้กฎหมายจะผ่านสภาฯ มาแล้วก็ยังมีคนอ้างว่ากฎหมายไม่สมบูรณ์ ไม่อาจหยุดการทารุณสัตว์ได้ ถ้าคิดกันแบบนี้อาจทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาและเจ้าหน้าที่ของรัฐอาจจะไขว้เขวสับสน ทำให้ไม่ให้ความสำคัญต่อกฎหมายฉบับนี้ก็เป็นไปได้ ทั้งที่สภาพความเป็นจริงแล้วกฎหมายฉบับนี้ทำให้ประชาชนทุกภาคส่วนตระหนักถึงสิทธิของสัตว์มากขึ้นและร่วมกันออกมาป้องกันการทารุณกรรมสัตว์กันอย่างมีประสิทธิภาพและเห็นผลชัดเจน
นายธีระพงศ์ กล่าวว่า สำหรับสมาคมฯ มีความเห็นว่ากฎหมายฉบับนี้มีข้อดี คือ 1. เป็นกฎหมายเฉพาะเรื่องการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ซึ่งในอดีตต้องอิงกับกฎหมายอื่นๆ เช่น กฎหมายอาญาซึ่งมีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท จำคุกไม่เกิน 1 เดือน 2.ครอบคลุมสัตว์เกือบทุกชนิดและรวมถึงสัตว์ที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติบางชนิดอีกด้วย 3. มีบทลงโทษหนักขึ้น กล่าวคือโทษปรับไม่เกิน 40,000 บาท จำคุกไม่เกิน 2 ปี และ 4. ครอบคลุมเรื่องการจัดสวัสดิภาพสัตว์ด้วย เช่น การละทิ้งสัตว์ ก็ถือว่ามีความผิดตามกฎหมายฉบับนี้
อย่างไรก็ตามกว่า 1 ปี ที่ผ่านมาก็มีบทพิสูจน์ว่ากฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ได้จริง จากสถิติการร้องทุกข์กล่าวโทษ ในคดีการทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควรกว่า 70 คดี มีคำพิพากษาของศาลแล้วไม่ต่ำกว่า 13 คดี และมีอีกหลายคดีกำลังเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม หลายคดีสามารถนำตัวผู้กระทำความผิดมารับโทษได้ทันที ซึ่งเป็นบรรทัดฐานใหม่ที่ดีของสังคมในระดับหนึ่ง แต่กฎหมายก็เป็นเพียงแค่เครื่องมือในการอำนวยความยุติธรรมเท่านั้น ไม่สามารถควบคุมพฤติกรรม เจตนาและจิตสำนึกของคนที่มุ่งกระทำผิดจนเป็นนิสัยได้
เราทุกคนจึงควรช่วยกันเผยแพร่ความรู้ ปลูกจิตสำนึกแห่งความเมตตา เปลี่ยนค่านิยมในด้านการทารุณกรรมสัตว์และร่วมปฏิบัติตามกฎหมาย ช่วยกันสอดส่องดูแลให้กฎหมายฉบับนี้มีส่วนช่วยเหลือสัตว์ไม่ให้ถูกทารุณกรรมและทำให้การจัดสวัสดิภาพสัตว์มีมนุษยธรรมอย่างแท้จริง เราจึงควรภาคภูมิใจใน “กฎหมายป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ของเรา”