พัฒนาการฟาร์มสุกรไทย (25/09/46)

สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) ต้องขอขอบคุณหน่วยงานของภาครัฐไม่ว่าจะเป็นกระทรวงสาธารณสุขและกรมปศุสัตว์ ที่ทั้งสองฝ่ายหันมาเข้มงวดกับฟาร์มสุกรให้เลิกใช้สารเร่งเนื้อแดงและจัดระบบฟาร์มสุกรทั้งหลายให้ได้มาตรฐานมากขึ้น ซึ่งประโยชน์ที่ได้จากการปรับปรุงคุณภาพฟาร์มและผลผลิตจากปศุสัตว์ สามารถยกระดับสินค้าปศุสัตว์ให้ไปแข่งขันในตลาดโลกสากลได้ ชาว TSPCA ดีใจแทนผู้บริโภคด้วยที่ต่อไปจะได้ไม่ต้องวิตกกังวลว่า เอ๊!! เนื้อหมูที่เรากำลังบริโภคอยู่นั้นเป็นเนื้อหมูที่มีคุณภาพปราศจากสารเร่งเนื้อแดงหรือเปล่า เรื่องนี้สังเกตุไม่ยาก แต่ก่อนอื่นเรามารู้จักเจ้า “สารเร่งเนื้อแดง” นี้กันก่อนดีกว่า สารเร่งเนื้อแดงจัดเป็นสารเคมีที่นำมาใช้ในการผลิตยารักษาโรคมนุษย์ มีสรรพคุณในการขยายหลอดลมรักษาโรคหอบหืดและช่วยให้กล้ามเนื้อมดลูกคลายตัวแต่อาจมีผลข้างเคียง คือทำให้มีอาการกล้ามเนื้อสั้น หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ กระวนกระวาย วิงเวียน ปวดศีรษะ ดังนั้นจึงห้ามใช้ยากลุ่มนี้ในผู้ที่เป็นโรคหัวใจและใช้ด้วยความระมัดระวังในผู้ที่มีความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยเบาหวานและผู้ป่วย Hyperthyroidism

ในปัจจุบันพบว่ามีการลักลอบใช้สารเร่งเนื้อแดงในสุกร วัว และสัตว์ปีก เพื่อช่วยทำให้สัตว์ที่เลี้ยงเพื่อบริโภคเหล่านี้มีการสะสมไขมันลดลง มีการเจริญเติบโตและกระตุ้นสารเนื้อแดงเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค หากได้รับสารตกค้างอาจเกิดอาการหัวใจเต้นผิดปกติ นอนไม่หลับ คลื่นไส้ อาเจียน

ลักษณะของหมูที่ได้รับสารเร่งเนื้อแดงจะมีลักษณะเหมือนกับนักเพาะกาย นั่นคือ จะสังเกตุเห็นมัดกล้ามนูนเด่นกว่าหมูปกติ โดยเฉพาะบริเวณสะโพก สันหลังและบริเวณหัวไหล่ และในตัวที่ได้รับสารในปริมาณสูง ๆ หมูจะมีอาการตัวสั่นอยู่ตลอดเวลา

วิธีการสังเกตุและเลือกซื้อเนื้อหมูให้ได้คุณภาพ ทางกระทรวงสาธารณสุขแนะนำว่า เนื้อหมูที่มีสารเร่งเนื้อแดงจะมีสีแดงคล้ำกว่าปกติ เนื้อที่หั่นทิ้งไว้จะมีลักษณะค่อนข้างแห้ง แต่ถ้าเป็นเนื้อหมูปกติ เมื่อหั่นทิ้งไว้จะพบว่ามีน้ำซึมออกมาบริเวณผิว ส่วนหมูสามชั้น ก็ให้สังเกตุดูว่า เนื้อหมูปกติจะมีเนื้อแดงเพียง 2 ส่วน ต่อมัน 1 ส่วน แต่ถ้าเป็นเนื้อหมูที่มีสารเร่งเนื้อแดงจะมีปริมาณเนื้อสูงถึง 3 ส่วน ต่อมัน 1 ส่วน นั่นหมายถึงมีเนื้อแดงมากกว่ามันนั่นเอง

หัดเป็นคนช่างสังเกตุอีกสักนิด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของตัวท่านเอง ด้วยความปรารถนาดีจาก สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA)

news_098