โครงการสมุดปกขาว

เนื่องด้วย ปัญหาสัตว์จรจัดได้กลายเป็นปัญหาสังคมอย่างมาก รวมทั้งปัญหาการทารุณกรรมสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์บ้าน สัตว์เศรษฐกิจ สัตว์ป่า และสัตว์ทดลอง ซึ่งการกระทำทารุณกรรมสัตว์ดังกล่าวมีรูปแบบที่ละเอียด และสลับซับซ้อนต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนานจนกลายเป็นภาพคุ้นหูคุ้นตาของประชาชนคนไทยโดยทั่วไป

แต่สำหรับชุมชนนานาชาติที่มาดำเนินธุรกิจในประเทศไทย และนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศต่างตกใจที่เห็นสภาพการทารุณกรรมสัตว์ในประเทศไทยที่สามารถพบเห็นได้ในทุกพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นกทม. และต่างจังหวัด อาทิ ในสวนสัตว์ก็ยังมีภาพการทารุณกรรมสัตว์ให้เห็น เช่น การกักขังสัตว์ไว้ในที่คับแคบ การให้น้ำ และอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ การจัดพื้นที่ให้สัตว์อยู่ไม่ถูกกับสภาพแวดล้อมของสัตว์ ดังเช่นในอะควาเรี่ยมใหญ่ ๆ การใช้สัตว์แสดงเพื่อความบันเทิงและการกีฬา โดยไม่คำนึงถึงสวัสดิภาพของสัตว์ การเลี้ยงดูสัตว์ในฟาร์มต่าง ๆไม่ถูกสุขลักษณะและมาตรฐานสากล การใช้สัตว์ในการเกษตร และในการบรรทุกขนส่ง ตลอดถึงการแปรรูปสัตว์ที่มีขั้นตอนไม่ถูกต้อง โดยไม่ต้องกล่าวถึงสัตว์เลี้ยงที่ถูกปล่อยปละละเลยหลังจากหมดความน่ารักน่าเอ็นดู จนกลายเป็นสัตว์จรจัดไม่มีแหล่งอาศัยที่แน่นอนกลายเป็นพาหะของโรคร้าย มลภาวะและภาระต่าง ๆให้แก่สังคม เช่น โรคพิษสุนัขบ้า โรคฉี่หนู และโรคระบบทางเดินหายใจต่าง ๆ

ปัญหาดังกล่าวนี้ได้กระจัดกระจายไปในเมืองที่กำลังเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวของประเทศ นำมาซึ่งภาพที่ไม่น่าดูสำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ และก่อให้เกิดความไม่แน่ใจในการบริโภคผลิตภัณฑ์เกษตรกรไทย

เนื่องด้วย สภาพที่กล่าวมา ทางสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) จึงได้ทำการรณรงค์ป้องกันการกระทำทารุณกรรมสัตว์และพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์ขึ้น โดยสิ่งแรกที่จะพึงปฏิบัติก็คือ การรณรงค์ผลักดันให้มีกฎหมายคุ้มครองและส่งเสริมสวัสดิภาพสัตว์ขึ้นเพื่อให้ประเทศไทยได้มีมาตรฐานการดูแลสัตว์ที่ถูกต้อง และในกระบวนการดังกล่าวได้มีการรณรงค์โครงการสมุดปกขาวเพื่อรวบรวมข้อมูลจากการสำรวจจำนวนประชากรสัตว์จรจัดในพื้นที่เป้าหมาย รวมทั้งการสำรวจลักษณะสภาพการทารุณสัตว์แต่ละประเภท ทั้งที่เป็นสัตว์เลี้ยง สัตว์บ้าน สัตว์ป่า และสัตว์เศรษฐกิจ ตลอดทั้งสัตว์ทดลอง เพื่อใช้เป็นสถิติในการจัดการแก้ปัญหาสัตว์จรจัดอย่างเป็นระบบและเป็นข้อมูลในการรณรงค์ต่อต้านการทารุณสัตว์ในประเทศไทย เพื่อสนับสนุนโครงการผลักดันกฎหมายส่งเสริมและคุ้มครองสวัสดิภาพสัตว์

ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาทางสมาคมฯจึงได้จัดให้มีการสำรวจประชากรสัตว์ดังกล่าวขึ้นโดยร่วมกับวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งมีกำหนดการดำเนินงานเป็นระยะเวลา 5 เดือน เริ่มต้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคม สิ้นสุดลงภายในเดือนกันยายน 2549 เพื่อนำผลการสำรวจดังกล่าวควบคู่กับร่างพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์แห่งชาติซึ่งสมาคมฯเป็นเจ้าภาพยกร่างเพื่อนำเสนอต่อหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อนำเสนอต่อองค์กรนิติบัญญัติเพื่อผ่านร่างดังกล่าวประกาศใช้เป็นกฎหมายในประเทศไทยต่อไป

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อใช้เป็นสถิติในการจัดการแก้ปัญหาสัตว์จรจัด
  2. เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการรณรงค์ต่อต้านการทารุณสัตว์ในประเทศไทย
  3. เพื่อใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนการผลักดันให้มีกฎหมายป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์

ระยะเวลาดำเนินการ

5 เดือน (เดือนพฤษภาคม – เดือนกันยายน 2549)

กลุ่มเป้าหมาย

  1. สัตว์เลี้ยงหรือสัตว์บ้าน
  2. สัตว์ป่า
  3. สัตว์เศรษฐกิจ
  4. สัตว์ทดลอง

พื้นที่ดำเนินการ

กรุงเทพมหานครและทุกภูมิภาคในประเทศไทย

แนวทางการดำเนินงาน

  1. สำรวจเชิงปริมาณ ได้แก่ การสำรวจจำนวนสัตว์จรจัดในพื้นที่เป้าหมาย
  2. สำรวจเชิงคุณภาพ ได้แก่ การสำรวจลักษณะของการทารุณสัตว์แต่ละประเภทในประเทศไทย

ผู้ดำเนินงาน

  1. สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย
  2. วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต

ขั้นตอนการดำเนินงาน

  • 10 พฤษภาคม 2549 จัดปฐมนิเทศคณะทำงานภาคสนาม รวมถึงอาสาสมัครของสมาคมฯ
  • 11 พฤษภาคม 2549 ลงภาคสนามเพื่อสำรวจในพื้นที่เป้าหมาย
  • กลางเดือนสิงหาคม 2549 เสร็จสิ้นการสำรวจ รายงานข้อมูลเบื้องต้น
  • กันยายน-2549 นำเสนอรายงานฉบับสมบูรณ์

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

  1. ก่อให้เกิดการแก้ปัญหาสุนัขจรจัดอย่างเป็นระเบียบที่เหมาะสมเพื่อให้สัตว์จรจัดได้รับการดูแล และไม่ก่อให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และปัญหาสังคมอื่น ๆต่อไป
  2. ให้ประชาชนชาวไทยได้รับทราบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์การทารุณสัตว์ในประเทศไทยและเห็นถึงผลกระทบของปัญหาดังกล่าวต่อประเทศไทย
  3. ให้ประชาชนเกิดจิตสำนึกที่ดีในการดูแลสัตว์เลี้ยงและหันมาให้ความสนใจในเรื่องของการไม่กระทำทารุณสัตว์ทั้งโดยเจตนา และไม่เจตนา
  4. ให้ประชาชนมีเมตตาในการปฏิบัติต่อสัตว์ไม่ว่าจะสัตว์เลี้ยงหรือสัตว์จรจัด
  5. ให้มีกฏหมายป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์

การประชุมพิจารณาแนวทางการสำรวจประชากรสัตว์ และสัตว์ที่ถุกกระทำทารุณ

ผลการสำรวจในแต่ละภาค

  • ภาคเหนือ
  • ภาคตะวันออก
  • ภาคกลาง

meeting_big