โครงการผลักดันกฎหมาย

หลักการและเหตุผล

เนื่องด้วยสภาพการทารุณสัตว์ในประเทศไทยนับวันจะมีมากขึ้น และรูปแบบการทารุณสัตว์ก็สลับซับซ้อน เช่นเดียวกัน นับตั้งแต่กระบวนการเลี้ยงดู การนำสัตว์มาใช้งาน การกีฬา การบันเทิง การท่องเที่ยว การบริโภค การขนส่ง การนำสัตว์มาทดลองทางวิทยาศาสตร์ ฯลฯ ครอบคลุมทั้งสัตว์บ้าน สัตว์เศรษฐกิจ (ปศุสัตว์) สัตว์ป่า และสัตว์ทดลอง เป็นสภาพที่ไม่เหมาะสมต่อสายตาของคนไทยเองและสายตาของนักท่องเที่ยวต่างประเทศและสำคัญยิ่งก็คือกลุ่มประเทศอียูซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญของประเทศไทยย่อมรับไม่ได้ เพราะประเทศเหล่านี้ต่างมีข้อกำหนดกฎหมายเกี่ยวกับสัตว์ (Convention on Animals) ไว้เป็นบรรทัดฐานปฏิบัติอยู่ทั่วไปเป็นเวลานับร้อยปี

ในส่วนประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายแม่บทเกี่ยวกับการทารุณกรรมสัตว์ มีเฉพาะกฎหมายของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวกับการคุ้มครองและอนุรักษ์สัตว์และพืชเท่านั้น แต่ไม่ได้เจาะจงเรื่องการทารุณสัตว์ จะมีก็แต่ประมวลกฎหมายอาญา 2 มาตรา กล่าวคือ มาตรา 381 และมาตรา 382 ซึ่งกำหนดบทลงโทษและปรับไว้ต่ำมาก กล่าวคือ ปรับไม่เกิน 1,000 บาทและลงโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 1 เดือน เท่านั้น แทบไม่มีนัยในการป้องกันสวัสดิภาพสัตว์ใด ๆเลย

อนึ่งประชาชนทั่วไปก็ยังสับสนกับความหมายของคำว่า “ทารุณสัตว์” ว่ามีความหมายเฉพาะเจาะจงเพียงใด “ทำอย่างไร” และ “ไม่ทำอย่างไร “จึงเรียกว่า “ทารุณ” และ “ไม่ทารุณ” ฯลฯ

แนวทางการดำเนินงาน

สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) ได้พิจารณาเป็นเรื่องรีบด่วนที่จะดำเนินการให้มี พรบ.ส่งเสริมและคุ้มครองสวัสดิภาพสัตว์ขึ้นใช้ในประเทศไทย โดยร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆที่มีภารกิจและวิสัยทัศน์เดียวกันทั้งภาครัฐ และเอกชน ธุรกิจ และภาคประชาชน โดยพิจารณาจากวัตถุประสงค์สำคัญ 3 ประการ กล่าวคือ:

  1. เพื่อส่งเสริมสวัสดิภาพสัตว์
  2. เพื่อส่งเสริมสวัสดิภาพมนุษย์ (สังคม)
  3. เพื่อส่งเสริมสุขภาพสิ่งแวดล้อม

กลยุทธการดำเนินงาน

  1. กำหนดแนวทางการร่างกฎหมาย
  2. แต่งตั้งคณะทำงานร่างกฎหมายประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและผู้อาวุโสตัวแทนวงการต่าง ๆ
  3. จัดเวทีสัมมนา เพื่อหาเจตนารมณ์ของกฎหมาย โดยกระบวนการ AIC
  4. ยกร่างกฎหมาย โดยคณะทำงานที่ได้รับการแต่งตั้ง
  5. ทบทวน ตรวจสอบร่าง โดยคณะนักกฎหมายและผู้เชี่ยวชาญ ฯลฯ
  6. เปิดประชาพิจารณ์ โดยตัวแทนองค์กรภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) ภาคธุรกิจเอกชน ภาคประชาคมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากการใช้มาตราการกฎหมายป้องกันการทารุณกรรม และการจัดสวัสดิภาพสัตว์
  7. พิจารณาปรับปรุงร่างกฎหมายฯ โดยคณะทำงานและผู้เชี่ยวชาญ ฯลฯ จากกระบวนการประชาพิจารณ์
  8. นำเสนอต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันเข้าสู่กระบวนการ
    • พัฒนาเครือข่ายประชาคมทั่วประเทศ เพื่อร่วมผลักดัน
    • รวบรวมรายชื่อสนับสนุน 150,000 รายชื่อ เพื่อยื่นเสนอรัฐสภาฯ (ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 กำหนด 50,000 รายชื่อ)
    • แต่งตั้งคณะทำงานอาวุโส (ที่เป็นที่ยอมรับของประชาชน) เพื่อติดตามความคืบหน้าและประสานงาน ฯลฯ ให้บรรลุเป้าหมายตามเจตนารมณ์ของโครงการ
เรื่องอื่น ๆ