วันนี้ที่รอคอย พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ฯ ผ่านการพิจารณาและลงมติจากสนช. แล้ว รอประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นกฎหมายมีผลบังคับใช้ต่อไป ….กว่าทศวรรษที่TSPCA ร่วมกับองค์กรเครือข่ายคนรักสัตว์ ผลักดัน พ.ร.บ.ฉบับนี้ ถึงเวลาที่ประชากรสัตว์ในประเทศไทยจะได้รับการคุ้มครองและจัดสวัสดิภาพที่ดีอย่างเป็นรูปธรรมเสียที!!!
นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งว่าพ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. …. เพื่อให้สัตว์ที่ไม่มีสิทธิไม่มีเสียงได้รับการคุ้มครองจากการทารุณกรรมและจัดสวัสดิภาพที่ดี ล่าสุดเมื่อวันที่ 12พฤศจิกายน 2557 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณาลงมติให้พระราชบัญญัติฉบับนี้ ออกเป็นกฎหมาย ด้วยคะแนนเสียง 188 เสียง ไม่เห็นชอบ 1 เสียง และงดออกเสียงจำนวน 4 เสียง จากจำนวนสมาชิกสนช. ที่เข้าประชุมจำนวน 193 ท่าน และอยู่ในระหว่างรอประกาศในราชกิจจานุเบกษา ออกเป็นกฎหมายมีผลบังคับใช้ในเร็วๆ นี้ หลังจากนั้นจะมีการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขอื่นๆ ตามมาเพื่อความชัดเจนในการบังคับใช้กฎหมายโดยมีการจัดตั้งคณะกรรมการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ขึ้นมาคณะหนึ่ง มีอำนาจหน้าที่ในเรื่องนี้โดยตรง
นายธีระพงศ์ ปังศรีวงศ์ นายกสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA)ให้ความเห็นว่า การมี พ.ร.บ.นี้ นับเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการคุ้มครองสัตว์ทั้งหลายจากการทารุณกรรม แม้ทางสมาคมฯ ได้ดำเนินการในเรื่องนี้มาแล้วกว่า 10 ปี แต่การไม่มี พ.ร.บ.เหมือนเราไม่มีความพร้อมในการเดินทาง ที่ผ่านมาการทำงานในเรื่องนี้จึงขาดความคล่องตัวเพราะปราศจาก พ.ร.บ.นี้ ฉะนั้นหลังจากมี พ.ร.บ.นี้แล้วทางสมาคมฯ ยังมีงานต้องทำอีกมากมาย กล่าวคือ
- เผยแพร่ให้ความรู้เกี่ยวกับเนื้อหาสาระ พ.ร.บ.ฉบับนี้ให้กับประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องทราบว่า พ.ร.บ.นี้มีขอบเขตคุ้มครองสัตว์และบทลงโทษอย่างไร จะนำไปใช้อย่างไร ใครเป็นผู้รับผิดชอบในการสอดส่องดูแล และการลงโทษผู้กระทำผิด ทั้งนี้ TSPCA ต้องทำงานร่วมกับเครือข่ายผู้รักสัตว์อีกกว่า90 องค์กร อาสาสมัครของสมาคมฯ หน่วยงานของรัฐ โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น อบต. เป็นต้น เพื่อหาแนวทางที่ชัดเจนและเป็นแนวทางเดียวกันในการทำงานรณรงค์ในเรื่องนี้ ต่อไป โดยมีเป้าหมายจะทำให้ได้อย่างน้อย 100 จุด ภายใน 6 เดือน
- ประสานงานกับคณะกรรมการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ เพื่อการบังคับใช้ พ.ร.บ.นี้ต่อไป เช่น การออกแนวทาง (Guideline) การออกประกาศ หรือการออกกฎกระทรวง การแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ การตั้งจุดมุ่งหมายในกรอบเวลา
- กระตุ้นเตือน ปลุกจิตสำนึก และเปลี่ยนค่านิยมในด้านการทารุณกรรมสัตว์ เช่น โครงการรักสัตว์ในโรงเรียน การร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการโดยนำบทความที่ชนะการประกวดเกี่ยวกับการปลุกจิตสำนึกในการ รักสัตว์ในเด็กกลุ่มตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนถึงชั้นมัธยมปลาย เพื่อนำมาเป็นสื่อเผยแพร่ซึ่งกำลังจะเป็นรูปธรรมในเร็วๆนี้ การนำเอากิจกรรมส่งเสริมความเมตตากรุณาต่อสัตว์เข้าไปอยู่ในหลักสูตรของลูกเสือแห่งชาติ การจัดทำภาพยนตร์โฆษณาปลุกจิตสำนึกต่างๆ และจัดทำคู่มือเกี่ยวกับการรักสัตว์/ไม่ทารุณกรรมสัตว์ เป็นต้น
สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) ขอยกย่อง ชื่นชม และขอขอบคุณทุกภาคส่วน ทุกท่านที่มีส่วนร่วมกันในการทำความดี ร่วมผลักดันฝ่าฟันอุปสรรคนานัปการมาต่อเนื่องยาวนานในการเรียกร้องให้มีกฎหมายเพื่อสัตว์อย่างแท้จริง “สัตว์” แม้จะพูดเองไม่ได้ เรียกร้องสิทธิให้ตัวเองไม่ได้เฉกเช่นเดียวกับมนุษย์ แต่สัตว์ก็มีชีวิต จิตใจ ความรู้สึก มีความทุกข์ทรมานเจ็บปวดจากการกระทำของมนุษย์ กฎหมายฉบับนี้จะมีส่วนช่วยเหลือสัตว์ให้ได้รับการคุ้มครอง และการปฏิบัติอย่างมีมนุษยธรรมมากยิ่งขึ้นอย่างแน่นอนรวมถึงยังสามารถสร้างภาพพจน์ที่ดีในสายตาของนานาอารยประเทศที่มักจะมีการวิพากษ์วิจารณ์ประเทศไทยในด้านลบเกี่ยวกับเรื่องการทารุณสัตว์