ถาม-ตอบ ข้อสงสัยเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ฯ โดยสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA)

ถาม-ตอบ ข้อสงสัยเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ฯ โดยสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA)

ถาม ระหว่างร่าง พ.ร.บ. ป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ฯ ของแต่ละกลุ่ม เราควรจะสนับสนุนฉบับไหนให้ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
ตอบ ในครั้งนี้ สนช. พิจารณาร่าง พ.ร.บ. ของกรมปศุสัตว์เพียงร่างเดียวเท่านั้น ไม่มีการพิจารณาร่างฉบับอื่น ในขณะเดียวกัน สนช. ได้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาประกอบด้วยสมาชิก สนช. ผู้ทรงคุณวุฒิ และภาคประชาชน เพื่อกลั่นกรองและแก้ไขเพิ่มเติมร่าง พ.ร.บ. ของกรมปศุสัตว์

ถาม ร่าง พ.ร.บ. ภาคประชาชนคืออะไร
ตอบ ในสภาปัจจุบันนี้ ไม่มีร่าง พ.ร.บ. ภาคประชาชนเลย ในอดีตเคยมีร่าง พ.ร.บ. จากภาคประชาชนเพียงฉบับเดียวที่สภาผู้แทนฯ รับไว้พิจารณา คือ ร่าง พ.ร.บ. ป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ฯ ที่เสนอโดยนายสวรรค์ แสงบัลลังค์ (กรรมการสมาคม TSPCA) ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยที่รัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ (อาจจะมีร่างกฎหมายอื่นๆ ในอดีตจากภาคประชาชนกลุ่มอื่น แต่สภาฯ ไม่รับไว้พิจารณา เพราะลายเซ็นและเอกสารประกอบไม่สมบูรณ์ )

ถาม แล้ว พ.ร.บ.นี้ที่ว่านี้ ไม่มี 20 หัวข้อใช่ไหมที่ระบุว่า การทารุณกรรมสัตว์คืออะไร
ตอบ ไม่มี แต่กรรมาธิการได้แก้ไขร่าง พ.ร.บ. ของกรมปศุสัตว์ในหลายประเด็น ตั้งแต่ขยายความให้กว้างขึ้น บทลงโทษให้หนักขึ้น กำหนดแนวทางในการบังคับใช้กฎหมายในอนาคต ส่วน 20 หัวข้อที่ถามมามิได้มีการบรรจุอยู่ในร่าง พ.ร.บ. นี้ ทั้งชุด แต่คณะกรรมาธิการได้พิจารณาใช้ 20 หัวข้อนี้ และนำใจความส่วนใหญ่ และเพื่อปรับแก้ไขเพิ่มเติมบางส่วนสอดแทรกเข้าไปในข้อนิยามและข้ออื่นๆ อีกทั้งยังมีการครอบคลุมไปถึงการทารุณสัตว์แบบอื่นๆ ที่มิได้ระบุชัดเจนไว้ใน 20 ข้อดังกล่าว

ถาม อย่างนี้ ถ้าไม่มี 20 หัวข้อ ร่าง พ.ร.บ. ก็ไม่สมบูรณ์ และไม่เป็นประโยชน์กับสัตว์เท่าที่ควรจริงไหม
ตอบ สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์ฯ (TSPCA) มีความเห็นว่า ถ้าระบุเหตุแห่งการทารุณสัตว์ไว้เพียง 20 ข้อ จะเป็นการเขียนในลักษณะจำกัดตัวเอง กล่าวคือ ยิ่งเจาะลึก ยิ่งแคบลง ยกตัวอย่างการใช้ไฟฟ้าช๊อตสัตว์, การใช้แสงเลเซอร์, การใช้เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูงฉีดใส่สัตว์ ไม่อยู่ใน 20 หัวข้อนี้เลย และยังมีกรณีอื่นๆ อีกมากมายนับไม่ถ้วนที่คนมีจิตใจทารุณสัตว์จะคิดหาวิธีมาใช้

การที่เอา 20 หัวข้อมาใส่ไว้ดื้อๆ ในร่าง พ.ร.บ.ของกรมปศุสัตว์ ก็จะมีปัญหาเรื่องการเชื่อมโยง การอ้างอิงมาตราต่างๆ อาจซ้ำกันหรือขัดกัน เหมือนการเอาเครื่องยนต์รถโตโยต้าไปใส่ในรถฟอร์ด ขับแล้วอาจจะสะดุด วิธีที่ถูกต้องคือ เอาใจความของ 20 ข้อนี้ที่เห็นว่าเหมาะสมไปใช้ในการปรับปรุง ร่างพ.ร.บ. หลักของกรมปศุสัตว์

ถ้ามี 20 ข้อในร่าง พ.ร.บ. นี้ จะมีปัญหาในการปฏิบัติมากมาย ทำให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติไม่ได้ มีประชาชนหลายกลุ่มมาต่อต้าน เป็นเครื่องมือให้คนกลั่นแกล้งกัน เจ้าหน้าที่บางคนอาจใช้กฎหมายนี้ไปในทางทุจริต ยกตัวอย่างเช่น จริงอยู่เราไม่ควรเอาแมวมาลวกน้ำร้อน แต่ 20 ข้อนี้ การที่จะเอาปู กุ้ง ปลา มาต้มน้ำบริโภคก็ผิดไปด้วย จะทุบให้ตายก่อนต้มก็ผิดอีก หรือถ้าใช้แส้มาตีแมวน่าจะถือว่าผิด แต่ในกีฬาโอลิมปิก ถ้าเอาแส้มาตีม้าก็จะเป็นการผิดกฎหมายเช่นกัน

ถาม แล้วพวกเราที่รักสัตว์ควรทำอย่างไร
ตอบ ขอให้สนับสนุนร่าง พ.ร.บ. ที่ผ่านการพิจารณาของกรรมาธิการ สนช. แล้ว เพื่อสนช. จะได้ลงมติผ่านเป็น พ.ร.บ. นำไปใช้ได้ทันที การที่ยืนยันให้มี 20 ข้อดังกล่าวเหมือนกับเรียกร้องให้ สนช. เริ่มใหม่ตั้งแต่ต้น
สนช. จะต้องเริ่มรับหลักการใหม่เป็นวาระที่ 1 คณะกรรมาธิการจะต้องกลั่นกรองในวาระที่ 2 ซึ่งโอกาสที่
สนช. จะไม่รับก็มี โอกาสที่คณะกรรมาธิการไม่เห็นด้วยกับ 20 ข้ออีกครั้งก็มี การล่าช้า จะทำให้เราพลาดโอกาสทองที่จะมีกฎหมายนี้ใช้ในประเทศไทย เพราะที่ผ่านมา 10 กว่าปีพลาดไปหลายครั้งแล้ว

เสร็จ พ.ร.บ. นี้ งานของพวกเราทุกคนเพิ่งเริ่มต้น จะต้องช่วยกันสอดส่อง ประชาสัมพันธ์ กระตุ้นเตือน ให้ความรู้กับสังคม ต้องมีการร้องเรียนให้ถึงคณะกรรมการที่จะมีการจัดตั้งขึ้นมาดูแลโดยตรงเรื่องการทารุณสัตว์ ซึ่งคณะกรรมการนี้มีอำนาจที่จะกำหนดกรณีของการทารุณสัตว์เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ในอนาคตให้มากกว่า 20 ข้อนี้เสียอีก

ร่วมสนับสนุนกดไปที่ website สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) www.thaispca.org