กิจกรรมระยะเริ่มต้นโครงการ

การพัฒนากลยุทธการสื่อสาร และการจัดตั้งระบบตรวจสอบสถานภาพการทารุณกรรมสัตว์ในประเทศไทย ในขั้นเริ่มต้นโครงการ สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทยได้จัดหาทรัพยากรบุคคลประจำโครงการ เครื่องมือเครื่องใช้ และ อุปกรณ์บริหารโครงการ จัดตั้งระบบงาน และแผนปฏิบัติงานโครงการพร้อม ๆกับการพัฒนากลยุทธ์การสื่อสารเพื่อเผยแพร่กิจกรรมของโครงการ การจัดระบบเก็บข้อมูลเกี่ยวกับสถานภาพการทารุณสัตว์ในประเทศไทยเพื่อเป็นข้อมูลอ้างอิงเบื้องต้นในการดำเนินโครงการ

การกำหนดกลยุทธ์การสื่อสาร

โครงการป้องกันการทารุณกรรมสัตว์แห่งชาติทำการกำหนดกลยุทธ์การสื่อสารโดยคำนึงถึงสภาพปัจจุบันของสถานการณ์การทารุณกรรมสัตว์ในประเทศไทยพร้อมกับบูรณาการข้อมูลจากการรณรงค์ต่อต้านการทารุณกรรมสัตว์และบทเรียนต่างๆที่ได้รับจากการรณรงค์ดังกล่าวของสมาคมฯพิทักษ์สัตว์โลก (WSPA) โครงการต่อต้านการค้าสัตว์ป่า และพืชป่าที่ผิดกฎหมายซึ่งดำเนินงานโดยองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) สาขาประเทศไทยและโครงการรณรงค์ร่วมด้วยช่วยกัน (Eye and Ear) ซึ่งดำเนินงานโดยWWFสาขาประเทศอังกฤษตลอดถึงประสบการณ์การดำเนินงานของมูลนิธิใบไม้เขียวในเรื่องโครงการประกาศเกียรติคุณสำหรับโรงแรมที่ดำเนินงานเพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติ

กลยุทธ์การสื่อสารได้จัดตั้งกลุ่มเป้าหมายหลักและกลุ่มเป้าหมายรองของโครงการ กำหนดบทบาทและความรับผิดชอบขององค์กรที่เข้าร่วมโครงการ กำหนดแนวทางและเป้าหมายที่จะทำการรณรงค์ กำหนดสื่อที่จะใช้พร้อมกับความถี่ในการรณรงค์ตลอดถึงการสื่อสารชนิด 2 ทาง กล่าวคือ การจัดประชุมและสัมมนา การเผยแพร่ข่าวสารผ่านสื่อเฉพาะกิจต่าง ๆ อาทิ แผ่นพับ วีดีทัศน์ อินเตอร์เน็ต และอื่น ๆ

การพัฒนาระบบการเก็บข้อมูลเพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการรณรงค์

โครงการจะจัดให้มีการสำรวจสภาพการทารุณกรรมสัตว์ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพเพื่อประเมินผลกระทบที่มีต่อโครงการ ตลอดทั้งผลกระทบที่มีต่อสภาพการทารุณกรรมสัตว์ในประเทศและการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของประชาชนเกี่ยวกับการทารุณกรรมสัตว์ ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

  1. พัฒนากลยุทธ์การสื่อสารโครงการ
  2. จัดประชุมสัมมนาเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครโครงการเพื่อพัฒนาศักยภาพในการดำเนินโครงการ
  3. พัฒนาความสัมพันธ์และจัดตั้งเครือข่ายกับหน่วยงานที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับโครงการ อาทิ กรมปศุสัตว์ กรุงเทพมหานคร กลุ่มผู้ดูแลสุนัขและแมวจรจัด ชมรมและสโมสรผู้รักสัตว์ สมาคมและมูลนิธิสงเคราะห์สัตว์ คลีนิคและศูนย์พยาบาลเกี่ยวกับสัตว์ เป็นต้น
  4. ทำการสำรวจสถานการณ์การทารุณกรรมสัตว์ในประเทศซึ่งรวมทั้งสัตว์บ้าน สัตว์เศรษฐกิจ สัตว์ป่า สัตว์ทดลอง ซึ่งเป็นการสำรวจเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพเพื่อหาปริมาณสัตว์ที่ถูกทารุณและลักษณะการทารุณที่มีอยู่ทั่วไป
  5. รวบรวมข้อมูลและทำการสรุปเพื่อจัดทำเป็นสถิติอ้างอิงเพื่อใช้ในการผลักดันกฎหมายและดำเนินการรณรงค์เพื่อลดปริมาณการทารุณให้เกิดขึ้นในสังคมไทย

หมายเหตุ: การสำรวจเพื่อจัดทำฐานข้อมูลการทารุณสัตว์ดังกล่าวจะใช้เป็นข้อมูลพื้นฐาน (TOR) ในการวัดและประเมินผลการดำเนินงานของโครงการว่าประสบความสำเร็จมากน้องเพียงใด การดำเนินงานดังกล่าวจะเป็นการประสานความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาของไทยเพื่อให้ข้อมูลการสำรวจเป็นกลางและถูกต้องตามหลักวิชาการ