สโมสรลูกเสือสวัสดิภาพสัตว์

ข้อบังคับสโมสรลูกเสือสวัสดิภาพสัตว์พ.ศ.๒๕๖๐

หมวดที่ ๑
ชื่อ เครื่องหมายและสำนักงานที่ตั้ง

ข้อ ๑ สโมสรนี้ชื่อว่า สโมสรลูกเสือสวัสดิภาพสัตว์ ชื่อย่อว่า ล.ส.ส. เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่าAnimal welfare scout club ย่อว่า AWSC666

ข้อ ๒ เครื่องหมายของสโมสรนี้ เป็นรูปสี่เหลี่ยม พิมพ์ด้วยสีน้ำเงิน ขาว
มีรูปสัตว์เลี้ยงสัตว์ป่า สัตว์ทดลอง และสัตว์เศรษฐกิจ ประกอบด้วย
สุนัข ช้าง แมว และนก มีอักษรภาษาอังกฤษ TSPCA บนแถบคำว่า
ลูกเสือสวัสดิภาพสัตว์และมีเครื่องหมายตราคณะลูกเสือแห่งชาติอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยม

ข้อ ๓ สำนักงานสโมสรตั้งอยู่ที่สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) อาคาร บี.เอ็ล.เอช ชั้น ๙ เลขที่ ๗/๑ ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ ๑๐๓๓๐

หมวดที่ ๒
วัตถุประสงค์ และสมาชิก

ข้อ ๔ วัตถุประสงค์ของสโมสร คือ
(๑) เพื่อพัฒนากิจการลูกเสือของคณะลูกเสือแห่งชาติ
(๒) เพื่อพัฒนาการจัดกิจกรรมลูกเสือให้เป็นไปตามกฎลูกเสือข้อ ๖ ลูกเสือมีความเมตตากรุณาต่อสัตว์
(๓) เพื่อส่งเสริม สนับสนุนการดำเนินงานกิจการลูกเสือสวัสดิภาพสัตว์ให้มีประสิทธิภาพอย่างแพร่หลายกว้างขวางและยั่งยืน
(๔) เพื่อพัฒนาลูกเสือ บุคลากรทางการลูกเสือและการจัดมวลกิจกรรมลูกเสือสวัสดิภาพสัตว์
(๕) เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้สมาชิกสโมสรได้พบปะสังสรรค์ แลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็นเพื่อพัฒนากิจการลูกเสือ
(๖) เพื่อดำเนินการเพื่อสาธารณประโยชน์หรือร่วมมือกับองค์กรอื่นเพื่อสาธารณประโยชน์

ข้อ ๕ สมาชิกของสโมสรมี ๒ ประเภท คือ
(๑) สมาชิกกิตติมศักดิ์
(๒) สมาชิกสามัญ

ข้อ ๖ สมาชิก ต้องมีคุณสมบัติดังนี้
(๑) สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ บุคคลผู้ทรงเกียรติ ผู้ทรงคุณวุฒิ หรือผู้ที่มีอุปการคุณ แก่สโมสรลูกเสือสวัสดิภาพสัตว์ ซึ่งคณะกรรมการ ลงมติให้เชิญเข้าเป็นสมาชิกของสโมสร
(๒) สมาชิกสามัญ ได้แก่
๒.๑ เป็นบุคลากรทางการลูกเสือหรือผู้สนใจทั่วไป
๒.๒ มีอายุไม่ต่ำกว่า ๒๐ ปีบริบูรณ์
๒.๓ มีความสนใจและจิตอาสาในการทำกิจกรรมเพื่อสาธารณประโยชน์
๒.๔ สมัครเป็นสมาชิกสโมสรฯ และได้รับการรับรองจากคณะกรรมการบริหารสโมสร

หมวดที่ ๓
การดำเนินงานของสโมสร

ข้อ ๗ สโมสรดำเนินการโดยคณะกรรมการบริหารสโมสร มีจำนวนไม่น้อยกว่า ๑๑ คน แต่ไม่เกิน ๒๑ คน ประกอบด้วย นายกสโมสร อุปนายกสโมสร เลขาธิการ นายทะเบียน เหรัญญิก ปฏิคมประชาสัมพันธ์ กรรมการสโมสร และตำแหน่งอื่น ๆ ตามแต่คณะกรรมการบริหารสโมสรจะเห็นสมควร กรรมการบริหารสโมสรอาจแต่งตั้งที่ปรึกษาหรือเจ้าหน้าที่หรืออนุกรรมการเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานได้ตามที่เห็นสมควร

ข้อ ๘ กรรมการบริหารสโมสรต้องมีคุณสมบัติดังนี้
(๑) มีอายุไม่ต่ำกว่า ๒๕ ปีบริบูรณ์ และเป็นสมาชิกของสโมสร
(๒) ไม่เป็นบุคคลล้มละลายหรือไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ
(๒) ไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

ข้อ ๙ กรรมการบริหารของสโมสรพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ถึงคราวออกตามวาระ
๑.๑ ตายหรือลาออก
๑.๒ ขาดคุณสมบัติตามข้อบังคับข้อ ๖
๑.๓ เป็นผู้มีความประพฤติและปฏิบัติตนเป็นที่เสื่อมเสีย และคณะกรรมการบริหารสโมสรมีมติให้
ออกโดยมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของคณะกรรมการบริหารสโมสร

ข้อ ๑๐ ในวาระเริ่มแรกให้คณะกรรมการผู้เริ่มจัดตั้งสโมสรเป็นผู้เลือกตั้งคณะกรรมการบริหารสโมสรขึ้นคณะ
หนึ่งตามจำนวนที่เห็นสมควรตามข้อบังคับ

ข้อ ๑๑ วิธีเลือกตั้งกรรมการบริหารสโมสร ให้ปฏิบัติดังนี้
(๑) ให้สมาชิกสโมสรเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารสโมสรตามจำนวนที่เห็นสมควรตามข้อบังคับ
โดยถือเสียงข้างมากของที่ประชุมใหญ่สามัญเป็นมติของที่ประชุม
(๒) คณะกรรมการที่ได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการบริหารสโมสร ดำเนินการเลือกตั้งนายกสโมสรและ
กรรมการอื่น ๆ ตามจำนวนที่เห็นสมควรตามข้อบังคับ
(๓) กรรมการบริหารสโมสรที่พ้นตำแหน่งตามวาระอาจได้รับเลือกเป็นกรรมการบริหารสโมสร
ได้อีก

ข้อ ๑๒ กรรมการบริหารสโมสรอยู่ในตำแหน่งคราวละ ๒ ปี นายกสโมสรลูกเสือสวัสดิภาพสัตว์จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันได้ไม่เกิน ๓ วาระ

ข้อ ๑๓ ถ้าตำแหน่งกรรมการบริหารสโมสรว่างลง ให้คณะกรรมการบริหารที่เหลืออยู่ตั้งบุคคลอื่นเป็นกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่าง กรรมการผู้ได้รับแต่งตั้งซ่อมอยู่ในตำแหน่งเท่าวาระของผู้ที่ตนแทน

หมวดที่ ๔
อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารสโมสรสวัสดิภาพสัตว์

ข้อ ๑๔ คณะกรรมการบริหารสโมสรมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินกิจการของสโมสรตามวัตถุประสงค์ของสโมสร และภายใต้ข้อบังคับนี้ ให้มีอำนาจหน้าที่ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
(๑) กำหนดนโยบายของสโมสรและดำเนินงานตามนโยบายนั้น
(๒) ควบคุมการเงินและทรัพย์สินต่าง ๆ ของสโมสร
(๓) เสนอรายงานกิจการ รายงานการเงิน และบัญชีงบดุล รายได้รายจ่ายต่อที่ประชุมใหญ่
(๔) ดำเนินการให้เป็นไปตามมติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสโมสร และวัตถุประสงค์ของข้อบังคับนี้
(๕) ตราระเบียบเกี่ยวกับการดำเนินกิจการของสโมสร
(๖) แต่งตั้งหรือถอดถอนคณะอนุกรรมการเพื่อดำเนินการเฉพาะอย่างของสโมสร ภายใต้การควบคุมของคณะกรรมการบริหารสโมสร
(๗) เชิญผู้ทรงคุณวุฒิเป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการบริหาร

ข้อ ๑๕ นายกสโมสร มีอำนาจหน้าที่ดังนี้
(๑) เป็นประธานของการประชุมคณะกรรมการบริหารสโมสร
(๒) สั่งเรียกประชุมคณะกรรมการบริหารสโมสร
(๓) เป็นผู้แทนของสโมสรในการติดต่อกับบุคคลภายนอกและในการทำนิติกรรมใด ๆ ของสโมสร หรือการลงลายมือชื่อในเอกสาร ข้อบังคับ และสรรพหนังสืออันเป็นหลักฐานของสโมสรและในการอรรถคดีนั้นเมื่อนายกสโมสร หรือผู้ทำการแทนหรือกรรมการสโมสร ๒ คน ได้ลงลายมือชื่อแล้ว จึงเป็นอันใช้ได้
(๔) ปฏิบัติการอื่น ๆ ตามข้อบังคับและมติของคณะกรรมการบริหารสโมสร

ข้อ ๑๖ ให้อุปนายกสโมสร ทำหน้าที่แทนนายกสโมสรเมื่อนายกสโมสรไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ หรือในกรณีที่นายกสโมสรมอบหมายให้ทำการแทน

ข้อ ๑๗ ถ้านายกสโมสรและอุปนายกสโมสรไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในการประชุมคราวหนึ่งคราวใดได้ ให้ที่ประชุมเลือกตั้งกรรมการบริหารสโมสรคนใดคนหนึ่ง เป็นประธานสำหรับการประชุมคราวนั้น

ข้อ ๑๘ เลขาธิการ มีหน้าที่ควบคุมกิจการและดำเนินการประจำของสโมสร ติดต่อประสานงานทั่วไป รักษาระเบียบข้อบังคับของสโมสร นัดประชุมคณะกรรมการตามคำสั่งของนายกสโมสร และทำรายงานการประชุม ตลอดจนรายงานกิจการสโมสร

ข้อ ๑๙ เหรัญญิก มีหน้าที่ควบคุมการเงิน ทรัพย์สินตลอดจนบัญชีและเอกสารที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องและเป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการบริหารสโมสรกำหนด

ข้อ ๒๐ สำหรับกรรมการตำแหน่งอื่น ๆ ให้มีหน้าที่ตามที่คณะกรรมการบริหารสโมสรกำหนด โดยทำเป็นคำสั่งระบุอำนาจหน้าที่ให้ชัดเจน

ข้อ ๒๑ คณะกรรมการบริหารสโมสร มีสิทธิ์เข้าร่วมประชุมกรรมการ หรืออนุกรรมการอื่น ๆ ของสโมสรได้

หมวดที่ ๕
การประชุมใหญ่สามัญประจำปี

ข้อ ๒๒ คณะกรรมการบริหารสโมสรจะต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปีทุก ๆ ปี ภายในเดือนธันวาคม และต้องมีสมาชิกสโมสรเข้าประชุมอย่างน้อย ๒๐ คน จึงจะเป็นองค์ประชุม
กรณีคณะกรรมการบริหารสโมสรจัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปีแล้ว แต่สมาชิกสโมสรเข้าประชุมไม่ครบองค์ประชุม ให้คณะกรรมการบริหารสโมสรเรียกประชุมใหญ่วิสามัญประจำปี ภายใน ๑๔ วันนับแต่วันจัดประชุมใหญ่สามัญ และการประชุมใหญ่วิสามัญนี้จะมีสมาชิกเข้าประชุมกี่คนก็ถือเป็นองค์ประชุม

ข้อ ๒๓ กำหนดการประชุมให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการบริหารสโมสรกำหนด

ข้อ ๒๔ การประชุมวิสามัญอาจมีได้ในเมื่อนายกสโมสร หรือคณะกรรมการบริหารสโมสรตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไปแสดงความประสงค์ไปยังนายกสโมสร หรือผู้ทำการแทน ขอให้มีการประชุมก็ให้เรียกประชุมได้

ข้อ ๒๕ ในการประชุมคณะกรรมการบริหารสโมสรหรือคณะอนุกรรมการ หากมิได้มีข้อบังคับกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น มติของที่ประชุมให้ถือเอาคะแนนเสียงข้างมาก ในกรณีที่มีคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมเป็นผู้ชี้ขาด กิจการใดที่เป็นงานประจำหรือเป็นกิจการเล็กน้อย นายกสโมสรมีอำนาจสั่งให้ใช้วิธีสอบถามมติทางหนังสือแทนการเรียกประชุมคณะกรรมการบริหารสโมสร แต่นายกสโมสรต้องรายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสโมสรในคราวต่อไปถึงมติและกิจการที่ได้ดำเนินการไปตามมตินั้น กิจการใดเป็นงานประจำหรือเป็นกิจการเล็กน้อยหรือไม่ ย่อมอยู่ในดุลพินิจของนายกสโมสร

ข้อ ๒๖ ในการประชุมคณะกรรมการบริหารสโมสรหรือคณะอนุกรรมการ นายกสโมสรหรือประธานที่ประชุมมีอำนาจเชิญหรืออนุญาตให้บุคคลที่เห็นสมควรเข้าร่วมประชุมในฐานะแขกผู้มีเกียรติ หรือผู้สังเกตการณ์ หรือเพื่อชี้แจง หรือเพื่อให้คำปรึกษาแก่ที่ประชุมได้

หมวดที่ ๖
การเงินและทรัพย์สิน

ข้อ ๒๗ สโมสรอาจได้มาซึ่งเงินหรือทรัพย์สินโดยวิธีต่อไปนี้
(๑) เงินค่าบำรุงตามที่สโมสรลูกเสือกำหนด
(๒) เงินและทรัพย์สินซึ่งมีผู้อุทิศให้สโมสรลูกเสือ โดยปราศจากภาระผูกพัน
(๓) เงินรายได้อื่นซึ่งไม่ขัดต่อวัตถุประสงค์ของคณะลูกเสือแห่งชาติ
(๔) รายได้จากการดำเนินกิจกรรมที่เหมาะสมกับกิจการลูกเสือ
(๕) เงินอุดหนุนจากหน่วยงานของรัฐ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และงบประมาณแผ่นดิน
(๖) ดอกผลจากทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้สโมสรลูกเสือ
(๗) เงินจากการหารายได้หรือสิทธิประโยชน์

หมวดที่ ๗
การแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับและการเลิกสโมสร

ข้อ ๒๘ การแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับ จะกระทำได้โดยเฉพาะที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี ซึ่งต้องมีสมาชิก สามในสี่ขององค์ประชุมมีมติให้แก้ไขหรือเพิ่มเติม

ข้อ ๒๙ ให้สโมสรลูกเสือสิ้นสุดลงด้วยเหตุดังต่อไปนี้
(๑) เมื่อสมาชิกสามัญมีมติด้วยคะแนนเสียงสองในสามของสมาชิกทั้งหมดให้เลิกกิจการของสโมสรลูกเสือ
(๒) เมื่อปรากฏว่าการดำเนินกิจการของสโมสรลูกเสือขัดต่อวัตถุประสงค์และอุดมการณ์ของลูกเสือ หรือกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรืออาจเป็นอันตรายต่อความสงบสุขของประชาชนหรือความมั่นคงของรัฐ
(๓) เมื่อสโมสรลูกเสือไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ ให้เลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ มีอำนาจสั่งให้สโมสรลูกเสือสวัสดิภาพสัตว์สิ้นสุดลง เมื่อได้รับรายงานหรือทราบเหตุ โดยให้เลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ ประกาศการสิ้นสุดของสโมสรลูกเสือ ณ สำนักงานลูกเสือแห่งชาติ

ข้อ ๓๐ เมื่อสโมสรลูกเสือสวัสดิภาพสัตว์สิ้นสุดการดำเนินกิจการ ให้เงินและทรัพย์สินทั้งหมด ตกเป็นของ คณะลูกเสือแห่งชาติ

ข้อ ๓๑ ให้เลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติทำหน้าที่ตรวจสอบทรัพย์สินของสโมสรลูกเสือสวัสดิภาพสัตว์ที่สิ้นสุดการดำเนินกิจการ และตกเป็นทรัพย์สินของคณะลูกเสือแห่งชาติ แล้วนำส่งมอบให้แก่คณะลูกเสือแห่งชาติ ภายใน ๖๐ วัน นับตั้งแต่วันเลิกกิจการ ให้เลขาธิการคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ รายงานการสิ้นสุดของสโมสรลูกเสือต่อคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ

                                                                   ประกาศ ณ วันที่ ๒๕ กันยายน พ.ศ.๒๕๖๐

                                                                  ดร.สาธิต  ปรัชญาอริยะกุล
                                                                    นายกสโมสรลูกเสือสวัสดิภาพสัตว์