สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) จัดสัมมนาเครือข่ายผู้รักสัตว์ “สวัสดิภาพสัตว์จะเป็นอย่างไรในยุค 4.0”

สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) จัดสัมมนาเครือข่ายผู้รักสัตว์

“สวัสดิภาพสัตว์จะเป็นอย่างไรในยุค 4.0”

(3 มิถุนายน 2560)  นายธีระพงศ์ ปังศรีวงศ์ นายกสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย(TSPCA) พร้อมด้วยคณะกรรมการบริหาร นายสัตวแพทย์อลงกรณ์ มหรรณพ นายสัตวแพทย์ยันต์ สุขวงศ์ เจ้าหน้าที่สมาคมฯ ได้จัดงานสัมมนาเครือข่ายผู้รักสัตว์ทั่วประเทศ ครั้งที่ 8 ประจำปี 2560 ในหัวข้อ “สวัสดิภาพสัตว์จะเป็นอย่างไรในยุค 4.0” โดยมีองค์กรเครือข่ายผู้รักสัตว์ทั้งภาครัฐ เอกชนทั่วประเทศเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก อาทิ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สมาคมสงเคราะห์สัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ฯ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กองบังคับการตำรวจน้ำ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร มูลนิธิเพื่อนช้าง ด่านกักสัตว์ ปศุสัตว์จังหวัดต่างๆ ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สัตวแพทย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ สวนสัตว์เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี สหกรณ์เครือข่ายโคเนื้อ ล้านนาด็อก ชมรมปลาทะเลไทย เป็นต้น ร่วมประชุมสัมมนาระหว่างวันที่ 3-4 มิถุนายน 2560  ณ โรงแรมเคป ราชา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี

นายธีระพงศ์ เปิดผยว่า สมาคมฯ ดำเนินงานด้านป้องกันการทารุณกรรมและการพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์มาโดยตลอด กว่า 23 ปี โดยได้ริเริ่มและผลักดันกฎหมายเพื่อสวัสดิภาพสัตว์และป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ ซึ่งประกาศเป็นกฎหมายเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2557  อย่างไรก็ตามกว่า 2 ปี ที่ผ่านมาก็มีบทพิสูจน์ว่ากฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ได้จริง ซึ่งเป็นบรรทัดฐานใหม่ที่ดีของสังคมในระดับหนึ่ง แต่กฎหมายก็เป็นเพียงแค่เครื่องมือในการอำนวยความยุติธรรมเท่านั้น ไม่สามารถควบคุมพฤติกรรม เจตนาและจิตสำนึกของคนที่มุ่งกระทำผิดจนเป็นนิสัยได้  เราทุกคนจึงควรมีส่วนร่วมช่วยกันเผยแพร่ความรู้ ปลูกจิตสำนึกแห่งความเมตตา เปลี่ยนค่านิยมในด้านการทารุณกรรมสัตว์และร่วมปฏิบัติตามกฎหมาย ช่วยกันสอดส่องดูแลให้กฎหมายฉบับนี้มีส่วนช่วยเหลือสัตว์ไม่ให้ถูกทารุณกรรมและทำให้เกิดการพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์อย่างยั่งยืน   สมาคมฯ พร้อมที่จะขับเคลื่อนไปสู่การพัฒนาภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยได้จัดสัมมนาครั้งนี้ขึ้น มีวิทยากรจากทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนมาให้ความรู้ ร่วมกันแสดงบทบาท ความคิดเห็น ถ่ายทอดประสบการณ์ความรู้ในด้านต่างๆ อันจะเกิดประโยชน์ทำให้เกิดการพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์เพื่อยกระดับภาพลักษณ์ของประเทศไทยไปสู่องค์กรที่เป็นสากลได้รับการยอมรับทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติอีกด้วย”

“สวัสดิภาพสัตว์” เป็นเรื่องที่เราได้ยินกันมานานมากแล้ว แต่การขาดความรู้ ความเข้าใจ และสำนึกเรื่องสวัสดิภาพสัตว์ของบุคคลที่เกี่ยวข้อง นับจากคนเลี้ยงสัตว์ เจ้าของสัตว์ ประชาชน เยาวชน ยังนับเป็นปัญหาที่สำคัญที่พบเห็นในสังคมปัจจุบัน  สวัสดิภาพสัตว์ หมายถึง “ความสุขกาย สบายใจของสัตว์”  สัตว์ทั้งหลายจำเป็นต้องได้รับความสุขกาย คือ มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ ในขณะเดียวกันต้องมีสุขภาพจิตที่ดี คือ สบายใจ แจ่มใส ไร้ความเครียด ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ไม่สามารถแยกออกจากกัน จำเป็นต้องเกิดขึ้นพร้อมๆกันไปทั้งคู่ ความไม่สมดุลจะทำให้เสียซึ่งสวัสดิภาพของสัตว์  นายธีระพงศ์ กล่าว

ส่วนหนึ่งของการจัดงานสัมมนาฯ ได้จัดกิจกรรม แชร์ ไลค์ ได้บุญ “ปล่อยนก บุญ หรือ บาป?”ทางยูทูปของสมาคมฯ เพื่อเป็นการรณรงค์ ปลูกจิตสำนึกให้ประชาชน ได้เห็นถึงคุณค่าและสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปล่อยนกว่าเป็นบุญหรือบาป การจับและปล่อยนกก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่สำคัญ แม้จะเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบทอดต่อกันมา แต่วิธีการจับนกมาเพื่อปล่อยนั้น ก็เป็นการสนับสนุนวงจรธุรกิจค้าชีวิตนกอันจะนำมาสู่การทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพที่ไม่เหมาะสม อีกทั้งนกบางชนิดก็เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง การล่าหรือครอบครองและการค้าก็มีความผิด ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535  มาตรา 16, 19 , 20 ประกอบมาตรา 47 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสี่ปีหรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และการจับนกด้วยวิธีการทารุณและดูและจัดสวัสดิภาพไม่ดี ก็อาจจะเข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 มาตรา 20 ประกอบมาตรา 31 การทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควรต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี ปรับไม่เกินสี่หมื่นบาทหรือทั้งจำและปรับ ส่วนการจัดสวัสดิภาพนกไม่เหมาะสม ก็เป็นความผิดตามมาตรา 22 ประกอบมาตรา 32 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสี่หมื่นบาทอีกด้วย